เดลินิวส์ 18/3/2542

แง้มพระวินัยสงฆ์ ธัมมชโยผิดข้อไหน

เสียงสาธุการดังกระหึ่มเมื่อมหาเถรสมาคม มีมติจะนำเอาข้อมูลของกรรมาธิการการศาสนาฯ เข้าพิจารณาในที่ประชุมมหาเถรฯชุดใหญ่ เพื่อตัดสินชี้ขาดปัญหาธรรมกาย และยังไม่รับข้อเสนอของพระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค 1 ที่จะให้พิจารณาเฉพาะ 4 เรื่อง อาทิ เรื่องนิพพานเป็นอัตตา, การเรี่ยไร, การนั่งสมาธิ และการห้ามอวดเรื่องปาฏิหาริย์

สาเหตุเนื่องจากข้อเสนอของพระพรหมโมลี ไม่สามารถแก้ไขปัญหาและความคลางแคลงใจในกรณีธรรมกายได้อย่างหมดสิ้น เพราะเป็นข้อเสนอที่พระพรหมโมลีร่างขึ้นมาตั้งแต่ต้น และภายหลังแม้จะได้รับข้อมูล ต่าง ๆ เพิ่มมากมายพระพรหมโมลีไม่ได้นำข้อมูลนั้นไปประกอบการตัดสิน

การจะยุติปัญหาทั้งหมดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความสามัคคีที่ "ถูกต้อง" ดังที่มหาเถรสมาคมประกาศชัดออกมานั้น จึงจำเป็นต้องชี้ขาด ในปัญหาการละเมิดพระธรรม พระวินัยที่เกิดขึ้นทั้งหมดในทุก ๆ ประเด็น ของวัดพระธรรมกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิจารณาถึงตัว พระไชยบูลย์ ธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ด้วย

ในรายงานของกรรมาธิการการศาสนาฯ ที่เกี่ยวข้อง กับการพิจารณาของมหาเถรสมาคม พอจะแยกได้เป็นข้อมูลทางพระธรรม กับข้อมูลทางพระวินัย โดยข้อมูลทางพระธรรมต้องถือว่ายุติไปได้ระดับหนึ่งเพราะข้อเสนอพระพรหมโมลี ก็ระบุชัดในเรื่องคำสอนของวัดว่า นิพพานเป็นอัตตา เป็นสถานที่มีพระพุทธเจ้าไปนั่งอยู่สูง 20 วา ผิดเพี้ยน แต่สิ่งที่มหาชนต่างรอการชี้ขาดจากเถรสมาคมน่าจะเป็นเรื่อง การละเมิดด้านพระวินัย มรดกที่สำคัญของศาสนาในการกำกับพระสงฆ์ให้เดินแนวทางพุทธบัญญัติ

สำหรับการละเมิดพระวินัยบัญญัติของศาสนาพุทธที่เรียกว่า "อาบัติ" ทำผิดศีลพระจำนวน 227 ข้อ พอจะแยกคร่าว ๆ เป็น 3 ระดับ โดย ระดับแรกเป็นการละเมิดที่มีผิดสถานเบา ปลงอาบัติทุกวันพระก็ยุติได้แก่อาบัติที่เรียกว่าถุลลัจจัย, ปาจิตตีย์, ปาฏิเทสนียะ, ทุกกฎ, ทุพภาสิต

ระดับที่ 2 เป็นการละเมิดผิดสถานกลาง เรียกว่า สังฆาทิเสส ต้องอยู่กรรมคือการประกาศความผิดกลางคณะสงฆ์และต้องถูกลงโทษจึงถือยุติ และ

ระดับสุดท้ายเป็นความผิดสถานหนักต้องปาราชิกต้องสึกสถานเดียว

ข้อกล่าวหาการอาบัติของพระไชยบูลย์ ที่ต้องรอคำชี้ขาดจากมหาเถรสมาคมนั้นว่าไปแล้วมีตั้งแต่ความผิดสถานเบา ไปถึงสถานหนักต้องจับสึก โดยมีถึง 3 เรื่องที่เข้าข่ายต้องพิจารณาด้านพระวินัย

เริ่มจากเรื่อง การซื้อที่ดิน ที่มีหลัก ฐานชัดเจนว่า พระไชยบูลย์ไปกว้านซื้อที่ดินนับพันไร่ หลายสิบแปลง และใช้เวลาซื้อข้ามปี โดยใช้ชื่อจริง นามสกุลจริงคือพระไชยบูลย์ สุทธิผล ที่สำคัญคือเป็นการเข้าไปซื้อของพระไชยบูลย์ โดยที่ไม่มีใครบริจาคให้ ในแง่กฎหมายทางโลกแล้วถือเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์แบบ

และสำหรับทางธรรม ความผิดข้อนี้มีบัญญัติชัดเจนใน ข้อ 9-10 โกสิยวรรคที่ 2 ที่ห้ามภิกษุซื้อขายสิ่งของด้วยเงินทอง และ ห้ามแลกเปลี่ยนสิ่งของกับคฤหัสถ์ ซึ่งการซื้อที่ดินของพระไชยบูลย์ถือว่าเข้าข่ายผิดศีลข้อนี้แบบไม่ต้องสงสัย ?!

โทษของการอาบัติข้อนี้คือการปลงอาบัติ โดยการรับผิดก็ต่อศีลได้ แต่เรื่องนี้มีจุดสำคัญคือก่อนจะ ปลงอาบัติต้องสละของนั้นก่อน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ พระไชยบูลย์ต้องสละที่ดินที่ไปซื้อมาเสียก่อน เพราะถือเป็นทรัพย์มัวหมอง เป็นอัปมงคล เป็นสิ่งของที่ทำให้ต้องอาบัติหรือเรียกว่า "นิคสัคคิยวัตถุ"

ถ้าพระไชยบูลย์ไม่ทำก็ไม่สามารถปลงอาบัติให้พ้นผิดได้ และต้องเข้าข่ายว่านอนสอนยาก
สงฆ์ห้ามแล้วไม่ฟัง จะเข้าข่ายความผิดขั้นกลางอีกคือสังฆาทิเสสต้องอยู่กรรม และหากพระไชยบูลย์ ยังไม่ยอมตามพระวินัยก็จะต้อง ประกาศนียกรรม หรือการประกาศเรื่องราวต่าง ๆ ให้สาธารณชนรับรู้
อาทิ เมื่อครั้งพุทธกาลที่พระเทวทัตกระทำการกบฏต่อพระพุทธศาสนา โดยการยื่นข้อเสนอต่อพระพุทธเจ้าให้ตนเป็นใหญ่ในสังฆมณฑล พระพุทธองค์โดยให้พระสารีบุตรไปประกาศนียกรรมในเมืองราชคฤห์

ประเด็นต่อไปคือ เรื่องสีกา ในราย งานของกรรมาธิการการศาสนาฯระบุพระไชยบูลย์มีส่วนพัวพันสีกา ถึง 6 คน และได้บรรยายรายละเอียดความสัมพันธ์กับสีกาเหล่านี้ อาทิ มีการไปพบพระธัมมชโยนั่งอยู่ในห้อง 2 ต่อ 2 กับสีกา มีเหงื่อผุดเต็มไปหมดทั้งที่ห้องแอร์ สีกาคนดังกล่าวไม่ใส่เสื้อยกทรง มีเพียงชุดนอน สีกาใบหน้าซีดเผือด เหงื่อออก พูดเสียงกระหืดกระหอบแสดงความตกใจ ผมเผ้ารุงรัง ขณะที่พระไชยบูลย์ก็นั่งเหงื่อหยดเป็น เม็ด ๆ ทั้งที่ห้องเปิดแอร์เย็นฉ่ำ

หรือสีกาอีกคนส่งจดหมายสีกาพร้อมรูปถ่าย ถ้อยคำจดหมายบรรยายถึงความสุขที่ได้รับจากความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเจ้าอาวาส แม้จะแต่งงานแล้วมีบุตรถึง 2 คน ก็ยังไม่เคยพบพานความสุขเช่นนี้มาก่อน แต่ในครั้งนี้เราถึงพร้อมกัน และมีการแนบภาพ ถ่ายขณะออกกำลังในชุดรัดรูปแอโรบิกแดนซ์ มาให้ด้วย

สีกาคนต่อไปพบเห็นพระไชยบูลย์ มักเดินทางไปเยี่ยมที่หมู่บ้านนวธานี เป็นการส่วนตัวอยู่อย่างสม่ำเสมอ และอยู่ด้วยกันจนดึกกว่าจะกลับวัด

ข้อมูลสีกาเหล่านี้ของกรรมาธิการการศาสนาฯ จะเข้าในหมวด "อนิยต" หรือพระวินัยบัญญัติที่กล่าวถึงความผิดของสงฆ์ ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะทำผิดถึงขั้นไหน โดยในพระวินัยบัญญัติชัดว่า ถ้าภิกษุนั่งในที่ลับตากับหญิงสองต่อสอง ถ้ามีคนที่ควรเชื่อถือได้พูดขึ้นว่าอาบัติถึงขั้นปาราชิก, สังฆาทิเสส หรือผิดสถานเบา ถ้าพระรับอย่างใดก็ปรับอย่างนั้น หรือถ้ามีการระบุว่าผิดอย่างไรก็ต้องให้เป็นไปตามนั้น

หมายความว่าในกรณีสีกานี้ จะต้องพิจารณาเริ่มต้นว่ากรรมาธิการการศาสนาฯ นั้นเป็น "คนที่ควรเชื่อถือ" ได้หรือไม่ และกรรมา ธิการการศาสนาฯ นั้นปรับถึงขั้นอาบัติใด ตั้งแต่สถานเบา สถานกลางหรือสถานหนัก

เรื่องสุดท้ายคือการ ปาราชิกอวด อุตริมนุสธรรม ที่เป็นการอวดธรรมวิเศษที่ไม่มีตัวตน ซึ่งกรรมาธิการการศาสนาฯ ระบุชัดว่า พระไชยบูลย์อวดอุตริมนุสธรรมอย่างสม่ำเสมอ และต้องปาราชิกขาดจากความเป็นสงฆ์

อาทิการอวดในการถวายข้าวพระพุทธเจ้าในอายตนนิพพาน ซึ่งเป็นสถานที่มีพระพุทธเจ้าไปประทับอยู่ และจะมีแค่พระไชยบูลย์กับแม่ชีจันทร์เท่านั้นที่นำของไปถวายข้าวพระได้ รวมถึงใครมาทำบุญในวันถวายข้าวพระจะได้บุญใหญ่ กุศลมหาศาล แม้ทำบุญทำทานปกติทุกวันไม่ได้ขาดเป็นพันชาติ ก็ไม่เท่าถวายข้าวพระพุทธเจ้าครั้งเดียว หรือการระบุว่าจะมี ปีแห่งการตรัสรู้ธรรม เพราะพระนิพพานส่งผังสำเร็จลงมา ยังไม่นับการอวดตนเป็นต้นธาตุ ต้นธรรม เป็นหัวหน้าของพระพุทธเจ้า

ทั้งหมดเป็นภาระสำคัญของมหาเถรสมาคมที่จะวินิจฉัย ทั้งในฐานะองค์กรสูงสุดของคณะสงฆ์ ตามพระราชบัญญัติ
คณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 ให้อำนาจมหาเถรสมาคม รักษาหลักพระธรรมวินัยไว้ในมาตรา 15 ตรี รวมไปถึงการที่ต้องปกป้องพระธรรม พระวินัยในฐานะพุทธบุตรผู้สืบทอดพระศาสนาจากองค์ศาสดา

และเป็นการปฏิบัติหน้าที่ให้สมดัง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงฝากฝังไว้ดังที่กำกับไว้ในตราตั้งพระราชาคณะที่มีเนื้อหาว่า

"ขอให้พระคุณเจ้ารับเป็นภาระด้านพระพุทธศาสนา !!!!".