เดลินิวส์ 11/3/2542

โวยธรรมกายมวยล้มแก้ แค่เรื่อง นิพพาน

โวยลั่นปัญหาธรรมกายมวยล้มต้มชาวพุทธ "ศิวลักษณ์-พระนักวิชาการ"ะบุพระพรหมโมลี รวบรัดเสนอเข้ามหาเถรสมาคมแก้เฉพาะคำสอนนิพพานเป็นอัตตา ปรับวิธีสอนสมาธิ ตั้งแท่นกันมาแต่ต้น แถม"ธัมมชโย"ลงนามรับรองพร้อมประกาศล่วงหน้าให้สาวกยอมรับการตัดสิน ไม่สนมติมหาเถรฯที่ให้นำผลสืบกรรมาธิการศาสนาไปเป็นหลักฐานด้วยทั้งเรื่องปาราชิก สีกา ที่ดิน ธุรกิจ อ้างเย็นไว้โยมต้องเป็นขั้นตอนไม่ให้รุนแรง หวั่นงานนี้ จะบานปลายยืนยันข้อมูลวัดฉาวแนบแน่นมหาเถรชั้นสูง ทั้งถวายเงินเป็นล้าน กำนัลรถหรู ตำรวจภาค 1 ประชุมร่วมกองปราบปรามแยกสอบสวนคดีอาญากับวัด สั่งย้ายด่วนใน 24 ชั่วโมง ส.วส.คลองหลวง ฐานไปรับใช้แต่วัดธรรมกาย

เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมานายอาคม เอ่งฉ้วน รมช.ศึกษาธิการเปิดเผยว่าพระพรหมโมลี เจัาคณะภาค 1 สรุปแนวทางแก้ปัญหาวัดพระธรรมกายเสร็จเรียบร้อยแล้ว และพระไชยบูลย์ ธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายลงนามยอมรับแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวแล้วด้วย ซึ่งพระพรหมโมลีจะเสนอต่อสมเด็จพระมหาธีราจารย์ วัดชนะสงคราม ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนกลางเพื่อนำเข้าพิจารณาในมหาเถรสมาคมในวันที่ 11 มี.ค. เวลา 14.00น. ที่ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร

างแก้ปัญหาที่พระพรหมโมลีเสนอได้พูดถึงประเด็นต่าง ๆ ที่ประชาชนกังขาเช่นคำสอน หากคำสอนใดไม่ตรงตามพระไตรปิฎกก็ให้แก้ไขอย่างถูกต้อง ส่วนเรื่องวิปัสสนาตามวิชชาธรรมกายก็ไม่ผิด เพราะถือเป็นสมาธิขั้นต้น แต่ควรทำให้ถูกโดยตั้งเป็นสำนักอภิธรรมเพื่อเผยแพร่คำสอนที่ถูกต้องและปฏิบัติวิปัสสนาอย่างถูกวิธี ซึ่งเชื่อว่าหากวัดพระธรรมกายปฏิบัติก็เป็นสิ่งที่ดี จะทำให้วัดเข้มแข็งขึ้น ในการเผยแพร่หลักธรรมอย่างไม่ผิดเพี้ยน และจะเป็นตัวอย่างให้กับสังคมชาวพุทธต่อไป

อย่างไรก็ตาม นายอาคมเชื่อว่า วัดจะไม่ดื้อดึง เพราะฟังจากการเทศน์ของพระไชยบูลย์ครั้งสุดท้าย ก็ได้อ้อนวอนให้ลูกศิษย์เชื่อ ในการตัดสินของมหาเถรสมาคม ส่วนเรื่องที่ดิน การรับบริจาค และประเด็นอื่น ๆ เชื่อว่าพระผู้ใหญ่ ต้องติดตามการดำเนินกิจกรรมของวัดอย่างใกล้ชิดในทุกกรณี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าแนวทางที่พระพรหมโมลีเสนอ ไม่ได้นำข้อมูลที่กรรมาธิการศึกษา ไปพิจารณาตามมติของมหาเถรสมาคมครั้งที่ผ่านมาซึ่งให้นำผลการศึกษา ของกรรมาธิการเข้าไปพิจารณาด้วย โดยแนวทางที่ออกมามีการระบุว่าเพื่อไม่อยากให้ใช้ความรุนแรง และต้องการให้รับทราบว่าการสอนเช่นนี้ผิด เป็นการภาคทัณฑ์ไว้ก่อน รวมถึงเรื่องการอวดอุตริ การเรี่ยไรบุญก็จะไม่ให้ทำถือเป็นขั้นแรกและต่อไปถ้าไม่เชื่อฟังจะจัดการเด็ดขาด

ส่วนแนวทางที่กรรมาธิการเตรียมเสนอต่อมหาเถรสมาคม ในการแก้ปัญหาวัดพระธรรมกาย ประเด็นสำคัญคือให้จัดการกับพระแกนนำในวัด ได้แก่พระไชยบูลย์ เจ้าอาวาสวัด,พระเผด็จ ทัตตชีโว รองเจ้าอาวาส และพระใน หรือพระคนสนิทของเจ้าอาวาส ซึ่งมีการปราวนาตัวจะบวชไม่สึกและจะเชื่อฟังพระไชยบูลย์อย่างไม่มีข้อแม้ กระบวนการดำเนินงานจะให้เสนอให้ตัดสินทั้งด้านพระวินัย และด้านความเหมาะสมในการเป็นผู้ปกครองและการให้อยู่ในวัดต่อไป โดยจะให้มีการถวายข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นทั้งหมดในทุกระดับชั้นความสำคัญของข่าว ตั้งแต่ระดับเปิดเผยจนถึงลับที่สุดให้กับกรรมการมหาเถรสมาคม ข้อมูลเหล่านี้จะมาจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยของรัฐบาล และของกรรมาธิการ ซึ่งหลักฐานที่พบพระแกนนำทั้งหมดน่าจะต้องวิบัติหรือผิดพระธรรมวินัยทั้งหมด โดยการทำผิดสูงสุด คือการปาราชิก ขาดจากการเป็นพระต้องจับสึกเช่นกรณีของพระไชยบูลย์ที่มีทั้งเรื่องการอวดคุณวิเศษไม่มีในตัวเอง การมีความสัมพันธ์กับสีกา การเกี่ยวพันกับบริษัทธุรกิจ และการเข้าไปถือครองที่ดินจำนวนมหาศาล

สำหรับ การจัดการกับพระแกนนำเหล่านี้ในรายงานของกรรมาธิการระบุว่าจะทำให้กรณีวัดพระธรรมกายยุติได้ เพราะกรณีวัดพระธรรมกายเป็นการสร้างลัทธิยึดตัวบุคคลผู้อ้างว่ามีบุญบารมี หรือเรียกกันว่าลัทธิผีบุญ โดยมีพระไชยบูลย์เป็นศูนย์กลาง และต้นของปัญหาทั้งปวง โดยร่วมมือกับรองเจ้าอาวาสและพระในจำนวนประมาณ 10 รูป ได้ดำเนินการบริหารจนวัดพระธรรมกายคล้ายเป็นองค์กรอาชญากรรมจัดตั้ง หากย้ายบุคคลเหล่านี้ออกไป แล้วนำพระเถระ และคณะพระสังฆาธิการที่มีศีลาจารวัตรดีงาม บริสุทธิ์ใจ และมีความรู้เข้ามาบริหารงานของวัด ก็จะแก้ไขปัญหาทั้งปวงได้โดยเรียบร้อยและเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย

รายงานของกรรมาธิการการศาสนาฯ ยังระบุว่าสิ่งที่น่าห่วง ของปัญหาวัดพระธรรมกายคือวัดได้วางแผนเข้ามายึดครองคณะสงฆ์ไทยโดยเข้าหาพระผู้ใหญ่ เมื่อพบเป้าหมายจะใช้การเอาใจ ยกยอ ให้เกียรติพระเถรทุกระดับชั้น พร้อมทั้งถวายปัจจัยจำนวนมากทั้งเงิน รถยนต์ยี่ห้อหรู ราคาแพง ฯลฯแก่พระเถรชั้นนำที่วัดจะติดต่อเข้าหาประโยชน์ มากน้อยผันแปรตามความสำคัญของพระเถระชั้นนั้น ๆ บางครั้งถวายเงินจำนวนสูงถึงหกหลักเจ็ดหลักต่อการนิมนต์เพียงครั้งเดียวเพื่อให้ไปร่วมงานของวัด

พระเถรที่ถูกเชิญไปร่วมงานที่วัด ก็ไม่เคยมีบทบาทเข้าถึงสาระของงานเลย เพียงแต่เป็นยันต์กันผี เช่นนิมนต์ไปเป็นพระอุปัชฌาย์ร่วมการบวชพระธรรมทายาท 500-600 รูป แต่บวชแล้วก็ไม่เคยอบรมสั่งสอนพระนวกะหรือพระใหม่เหล่านั้น ตามหน้าที่พระอุปัชฌาย์ วัดพระธรรมกายจะนำไปอบรมเองจนหมดสิ้นทุกขั้นตอน หรือนิมนต ์ไปเป็นประธานแจกรางวัลหรือประธานในพิธีสำคัญทางศาสนาเพื่อที่จะได้ถ่ายรูปพระมหาเถระองค์นั้น ๆ ไปอวดอ้างว่าเป็นที่โปรดปราน

ทางด้านพระมหาบุญถึง ชุตินฺธโร ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย กล่าวถึงการตัดสินของพระพรหมโมลีว่า หากมีเพียงแค่นั้นเกรงว่าเรื่องจะยุ่งกันไปใหญ่ มองได้ในสองแง่มุม ประการแรกอาจมีความเป็นไปได้ที่ตัดสินแต่เฉพาะกรณีที่ผิดทางธรรม ส่วนทางโลกคงต้องรอให้ทางมหาเถรสมาคมตัดสินใจสั่งการต่อไป ประการที่สองเป็นความรู้สึกห่วงใยเกรงจะทำให้เห็นภาพชัดตามที่สื่อมวลชนแขนงต่างๆ กล่าวถึงความใกล้ชิดระหว่างพระพรหมโมลีกับวัดพระธรรมกาย ถ้าเป็นประการหลังนี้ก็เกรงว่าจะยุ่ง

"อาตมาก็รู้สึกผิดหวังแต่คงทำอะไรไม่ได้ เพียงแต่ตั้งข้อสังเกตได้ว่า ทำไมธรรมกายไม่ออกมาตอบโต้ และยืนกระต่ายขาเดียวมาตลอดให้รอการตัดสินชี้ขาดของคณะสงฆ์ เหมือนกับล่วงรู้มาก่อนแล้วว่าผลจะออกมาอย่างไร ประเด็นที่สอง ทำไมไม่มีการพิจารณาหรือถวายแนวทางการพิจารณาในเรื่องของการใช้ชื่อตัวในการทำนิติกรรมสัญญา โดยเฉพาะกรณีการมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินหลายแปลง เรื่องสีกา เรื่องการดูหมิ่นพระบรมวงศานุวงศ์ และเรื่องการใช้จ่ายเงินของวัด "

ประเด็นสุดท้าย คือคำตัดสินของพระพรหมโมลี มีการบอกกล่าวกันนานแล้วว่าจะใช้แนวนี้ ที่แปลก ก็ตั้งเป็นแนวทางไว ้ตั้งแต่เกิดปัญหาครั้งแรก ๆ และยังไม่มีข้อมูลเรื่องอื่น ๆ เข้ามา ต่อมามีข้อมูลอีกหลายเรื่อง แต่คำตัดสินก็ยังคงเหมือนเดิม มีเพียงประเด็นเล็กๆเท่านั้นถ้าจะมีการแยกส่วนระหว่างทางโลกกับทางธรรมก็น่าจะระบุออกมาชัดๆ

อย่างไรก็ตามทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ยังคงเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ต่อไปโดยจะมีพระนิสิตออกไปเผยแผ่คำสอนที่ถูกต้อง โดยจะเน้นคำสอนเรื่องของนิพพานเป็นอนัตตาไม่ใช่อัตตาอย่างที่วัดพระธรรมกายสอน และยังจะมีกิจกรรมอื่นอย่างต่อเนื่องต่อไป

นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือส.ศิวรักษ์นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และนักวิพากษ์สังคมชื่อดัง กล่าวถึงการตัดสินของพระพรหมโมลีว่า ครั้งแรกที่เกิดเรื่องนี้ ก็บอกไปแล้วถึงที่สุดจะกลายเป็นมวยล้ม เพราะพระพรหมโมลีมีความสัมพันธ์กับวัดพระธรรมกาย เห็นชัดว่าเจ้าคณะภาค1 บอกมาแต่แรกแล้วว่า จะตัดสินแต่เฉพาะคำสอนโดยให้เปลี่ยนคำสอนใหม่ให้ถูกต้อง และการนั่งสมาธิก็ให้ทางวัดมหาธาตุมาเป็นผู้สอนอย่างนี้น่าสงสัยมาก

ประเด็นที่พระพรหมโมลีไม่ตัดสินในเรื่องของสีกา การเงิน และการใช้จ่ายของวัด การหมิ่นเบื้องสูงนั้น ก็อย่างที่บอกไปแล้วว่ามวยล้ม และก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะตอบแทนได้ว่าทำไมไม่พิจารณาเรื่องเหล่านี้ ต้องไปถามพระพรหมโมลีเอาเอง แล้วจะคอยติดตามข่าวดูว่าท่านจะว่าอย่างไร เพราะอย่างการซื้อที่ดินโดยใช้ชื่อพระก็ผิดพระธรรมวินัยแล้ว"

ในวันดียวกันที่กองบัญชาการตำรวจภาค 1 เวลา 14.00 น. พล.ต.ท อนันต์ ภิรมย์แก้ว ผู้บัญชาการตำรวจภาค 1 เรียกประชุมนายตำรวจที่สอบสวนเกี่ยวกับปัญหาวัดพระธรรมกายเป็นเวลา 2 ชั่วโมง โดยพล.ต.ท.อนันต์ กล่าวภายหลังการประชุมว่าไม่มีการแถลง แต่สื่อมวลชนอยากจะถามอะไรให้ตั้งคำถามมาเลย

"วันนี้ได้เชิญพนักงานสอบสวนของรัฐมาพูดคุยปรึกษาหารือ ต้องการที่จะแลกข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน บางส่วนที่เป็นเรื่องเดียวกัน ก็จะได้มอบให้ใครดำเนินการ รวบสำนวนไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ที่อยู่นอกเขตพื้นที่ของกองบัญชาการตำรวจภาค1 ก็จะได้มอบหมายให้ทางด้านกองปราบ "

ประเด็นหลักๆ ที่เจ้าหน้าที่จะขยายการสอบไปอาทิ เรื่องที่ดิน เรื่องมูลนิธิธรรมกาย และต้องขอข้อมูลเพิ่มเติม โดยเฉพาะ ข้อมูลจากกรรมาธิการ เรื่องการถือของที่ดินของเจ้าอาวาส ก็ต้องรอให้ทางด้านพระสงฆ์เป็นผู้พิจารณาก่อน ส่วนการหมิ่นสถาบันชั้นสูงก็อยู่ระหว่างการการตรวจสอบเช่นกันว่าเข้าข่ายความผิดในทางกฏหมายหรือไม่ รวมถึงเรื่องการขายบุญ การโฆษณาชวนชื่อก็ยังไม่มีผู้เสียหายที่แท้จริงมาร้องทุกข์หรือแจ้งความ

พ.ต.อ. วิเชียร สมานพงษ์ รองผู้บังคับการกองปราบปราม กล่าวว่ากรณีพระบานเย็น ดวงระยศ ซึ่งนำชาวบ้านมาแจ้งความดำเนินคดีกับวัดพระธรรมกาย เป็นเรื่องของสถานีตำรวจภูธรคลองสาม ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นท ี่รับไปทำอยู่ กองปราบจะแยกสอบสวน 3 เรื่องคือที่ดิน ,มูลนิธิธรรมกายและบริษัทลูกที่ตั้งขึ้นมา ว่ามีความเกี่ยวพันกันอย่างไร มีความผิดทางอาญาหรือไม่

"การตรวจสอบเรื่องที่ดินของเจ้าอาวาสพบว่า ส่วนใหญ่เป็นการให้ตลอด แต่การซื้อขายราคาต่ำกว่าการประเมินเป็นเรื่องของสรรพากร เรื่องมูลนิธิได้มีการประสานงานไปยังเจ้าหน้าที่ในเขตท้องที่ให้ตรวจสอบข้อมุลเรื่องนี้ให้ด้วย โดยจะส่งข้อมูลมาให้ในวันที่ 17 มี.ค.นี้"

ขณะเดียวกันเมื่อเวลา 10.30 น. พล.ต.ต.อชิระ สมแก้ว ผบก.ภ.จว.ปทุมธานี ได้เรียกหัวหน้าสถานีตำรวจทุกสถานีในจังหวัดปทุมธานี เข้าร่วมประชุม โดยมีกรณีวัดพระธรรมกายเป็นกรณีสำคัญที่สุด พล.ต.ต.อชิระเปิดเผยว่าได้รับคำสั่งให้ร่วมกับ พ.ต.อ.จิรุจจ์ พรหมโมบล ผกก.สภ.อ.คลองหลวง รวบรวมข้อมูลวัดพระธรรมกายอย่างละเอียด และต้องส่งให้ถึงมือผู้บัญชาการตรำวจภาค 1 ในวันที่ 11 มี.ค.นี้

พล.ต.ต.อชิระยังได้มีคำสั่งถึง พ.ต.ต.อดุลย์ เม่นบางผึ้ง สว.ส. (สบ.2) สภ.อ.คลองหลวง ย้ายไปช่วยราชการที่ สภ.อ.หนองเสือ เป็นการด่วน โดยให้ไปรายงานตัว ในวันที่ 11 มี.ค.นี้ เพราะที่ผ่านมาพ.ต.ต.อดุลย ์ปฏิบัติตัวไม่เหมาะสม ใช้เวลาราชการไปช่วยงานวัดพระธรรมกายเป็นประจำ จึงสั่งให้ย้ายไว้ก่อน จากนั้นจึงจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะมีคำสั่งลงโทษอย่างไรต่อไป

นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ถึงการเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชฯเมื่อวันที่ 9 มี.ค.ว่าสมเด็จพระสังฆราชฯทรงรับสั่งลำพังมหาเถรสมาคมคงไม่มีกำลังไปทำอะไร หรือรวบรวมข้อมูลได้ คงต้องอาศัยรัฐบาล ตนกราบทูลไปว่าจะให้นายอาคม เอ่งฉ้วน รมช.ศึกษาธิการมาเข้าเฝ้า และให้ทรงรับสั่งให้กระทรวงศึกษาธิการเสนอข้อมูลหรือสิ่งที่มหาเถรสมาคมต้องการ

"เราต้องให้เวลามหาเถรฯในส่วนรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้รวบรวมข้อมูลหลัก ๆ เสนอต่อมหาเถรฯ และจะกราบบังคมทูนสมเด็จพระสังฆราชฯต่อไป ศาสนาพุทธในไทยมั่งคงที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ตนพูดในฐานะเด็กวัดเก่า เคยเห็ฯมาด้วยตัวเอง และสัมผัสมาด้วยตัวเองเป็นเรื่องธรรมดาที่คนหมู่มากจะไม่ห้มีอะไรผิดจากแนวคงไม่ได้ แต่หลักในการแก้ปัญหาต้องทำด้วยความรอบคอบ ไม่สร้างความขัดแย้ง และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มีเครื่องมือที่จะช่วยตรวจสอบ ข้อมูลที่รัฐบาลมีอยู่จะถูกต้องหรอืไม่ถูกต้องผู้ชี้ขาดคือมหาเถรสมาคม"

เมื่อถามว่า มีการมองว่ากรรมการมหาเถรสมาคมมีความสัมพันธ์กับวัดพระธรรมกายในฐาะนเป็นพระอุปัชฌาย์ให้กัน นายชวนกล่าวว่ามหาเถรเป็นตัวแทนของสงฆ์ทั้งประเทศมีความผูกพันต่อวัดทั่วประเทศ