เดลินิวส์ 8/12/2541

ยันคำสอนธรรมกายผิดเพี้ยน-อันตราย

ผู้ช่วยอธิการบดี มหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัยยืนยันคำสอนธรรมกายผิดเพี้ยนอันตรายมาก ที่ให้นิพพานเป็นสิ่งที่มีตัวตน จนทำให้เกิดพิธีกรรมแปลก ๆ อย่างการถวายข้าวพระพุทธเจ้าผ่านเจ้าอาวาส ไม่สอนให้คนพ้นทุกข์ เปิดผลวิจัยร้อนศูนย์พุทธศาสน์ จุฬาฯ ระบุ "ธัมมชโยภิกขุ" กลายเป็นอวตารลงมาปราบมารไปแล้ววาจาทุกอย่างถือว่าศักดิ์สิทธิ์ ลูกศิษย์ต้องทุ่มทำบุญสุดตัวจะได้เกาะชายผ้าไปด้วย แถมการปกครองในวัดแบ่งพระเป็นลำดับชั้นใช้จีวรเป็นเครื่องหมาย พระฝ่ายในใกล้ชิดเจ้าอาวาสจีวรทำจากป่านสวิสราคาแพงสีเหลืองอร่ามตา ส่วนพระภายนอกใช้จีวรธรรมดา
ประเด็นปัญหาวัดพระธรรมกาย เริ่มมีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะมีการร้องเรียนส่งข้อมูลให้นายอาคม เอ่งฉ้วน รมช.ศึกษาธิการ ว่าคำสอนของวัดพระธรรมกายผิดเพี้ยน ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญเพื่อหวังผลจะได้ผลบุญมากขึ้นในชาตินี้และชาติต่อ ๆ ไป ซึ่งหลักของศาสนาพุทธการทำบุญเพื่อลดกิเลส ความโลภ นอกจากนั้นวัดพระธรรมกายยังสอนว่าเมื่อถึงธรรมกายจะเป็นนิจจัง สุขขัง อัตตา คือเที่ยง มีความสุข มีตัวตน และนิพพานเป็นอัตตา มีตัวตนซึ่งขัดกับหลักศาสนาพุทธที่ว่าทุกอย่างเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาหรือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน
พระมหาบุญถึง ชุตินฺธโร ผู้อำนวยการ กองปฏิบัติศาสนกิจในประเทศ และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ในประเทศไทย กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. นี้ ว่าคำสอนของวัดพระธรรมกายที่ว่าเมื่อถึงธรรมกาย จะเป็นนิจจัง สุขขัง อัตตา ถือเป็นคำสอนที่ปลอม ไม่ใช่ของแท้เป็นคำสอนที่เพี้ยน และเป็นสิ่งที่อันตรายมาก
"คำว่านิจจัง คือเที่ยง ไม่เปลี่ยน แม้พระนิพพานไม่เปลี่ยนเป็นของเที่ยง, สุขขัง คือเป็นสุขตลอด ไม่แปรเปลี่ยนเป็นสุขตลอดและอัตตา มีตัวตนไม่สลาย เช่นสุขก็สุขตลอด ทุกข์ก็ทุกข์ตลอด ยึดมั่นถือมั่นตัวกู ของกู แต่อนิจจังจะตรงกันข้าม ทุกอย่างไม่เที่ยง เกิดแก่เจ็บตายแน่นอน, ทุกขัง ทุกอย่างเป็นทุกข์ ส่วนอนัตตาทุกอย่างไม่ใช่ตัวตน ไม่มีเจ้าของ รวมถึงธรรมะเองก็ตามเป็นสภาพคงอยู่เดิมไม่ได้ ต้องแปรเปลี่ยนไป เป็นทุกข์ แม้พระนิพพานก็ไม่ใช่ตัวตน ถือเป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา"
จากแนวคิดที่ผิดเพี้ยนของวัดพระธรรมกายทำให้มีพิธีกรรมอื่น ๆ เช่นการถวายข้าวพระพุทธเจ้า โดยถวายผ่านเจ้าอาวาส ซึ่งถือว่าผิด เป็นไปไม่ได้ เพราะพุทธเจ้าทรงดับขันธ์ ดับ เบญจขันธ์ ไม่มีวิญญาณแล้ว ไม่มีรูป จะไปถวายข้าวไม่ได้
พระมหาบุญถึงยังกล่าวอีกว่าคำสอนที่ให้ยึดในนิจจัง สุขัง อัตตา เป็นการสอนแบบแนวมหายาน ที่มีอิทธิพลในจีน เวียดนาม ทิเบต เพราะเชื่อวิญญาณไม่ดับ ดับเฉพาะร่างกาย วัดพระธรรมกายเอามาเหมารวมคิดว่ามีพระพุทธ เจ้าอยู่ แต่ในประเทศไทยเป็นพุทธศาสนาแนวหินยานโดยในพระไตรปิฎกไม่เคยบอกว่าทุกสิ่งมีตัวตน ขนาดที่ว่าพระธรรมทั้งหลายทั้งปวงยังถือเป็นอนัตตา และนิพพานเป็นอนัตตา
"ในคำสอนไม่มีอะไรสอนให้เที่ยงแท้แน่นอน กรรมฐานวัดพระธรรมกายเพ่งลูกแก้วเป็นวิธีการหนึ่งเหมือนการเพ่งกสิณ ไม่นำบุคคลพ้นทุกข์ เป็นการเพ่งภาวนาเฉย ๆ และถือให้ยึดติดตัวบุคคลแทนพระพุทธเจ้าและหลักธรรมะ คนที่ฟังคำสอนจะไปไหนก็ไม่ได้ติดที่ตัวพระ แทนที่จะไปยึดในพระธรรม ยึดในพระพุทธเจ้ากลับไปยึดในพระสงฆ์แทน สอนให้ประชาชนติด ให้อยู่ในการเวียนว่ายตายเกิดไม่สอนให้พ้นไปจากวัฏสงสาร โดยเฉพาะการทำบุญด้วยวัตถุสิ่งของ จะไม่ถึงนิพพาน คำสอนของวัดพระธรรมกายอาจเพี้ยนได้เพราะเจ้าอาวาสไม่ใช่ลูกศิษย์หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ แต่เป็นลูกศิษย์แม่ชี"
ดร.วิทย์ วิศทเวย์ ที่ปรึกษาศูนย์พุทธศาสนศึกษา จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย กล่าวว่าปัญหาเรื่องคำสอนของวัดพระธรรมกาย เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมานานโดยวัดพระธรรมกายยืนยันว่าเป็นอัตตา มีตัวตน ขณะที่อีกฝ่ายโดยพระธรรมปิฎก หรือหลวงพ่อประยุทธ ปยุตฺโต แย้งว่านิพพานเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนโดยต่างฝ่ายต่างก็ยกพระไตรปิฎกมาอ้าง
"เรื่องนี้แล้วแต่ว่าใครจะเชื่อ สำหรับผมเชื่อหลวงพ่อประยุทธ เพราะท่านเป็นพระคงแก่เรียน และรู้เรื่องพระไตรปิฎกดีที่สุดของไทย"
ดร.วิทย์กล่าวอีกว่าศูนย์พุทธศาสนศึกษา จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ยังมีการสนับสนุนทุนวิจัยเรื่อง "ศาสนทัศน์ของชุมชนเมืองสมัยใหม่ ศึกษากรณีวัดพระธรรมกาย" โดย ดร.อภิญญา เฟื่องฟูสกุล เป็นผู้ดำเนินการวิจัย ซึ่งเดิมทีจะทำเป็นหนังสือออกวางขาย สุดท้ายก็ลงตีพิมพ์ในวาร สารพุทธศาสนศึกษาแทน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับงานวิจัยของ ดร.อภิญญา ที่ศึกษากรณีวัดพระธรรมกายนั้นได้มีการศึกษาลึกตั้งแต่เริ่มต้นกำเนิดวิชชาธรรมกาย และกินความกว้างในทุก ๆ ด้าน
สิ่งที่น่าสนใจของรายงานวิจัยชิ้นนี้คือการอธิบายแนวคิดของวัดพระธรรมกาย โดยระยะเริ่มแรกของวัดปากน้ำ มีความคิดฝ่ายพระและฝ่ายมาร โดยลูกศิษย์สายวิชชาธรรมกายจึงต้องมีภารกิจในการฝึกวิชชาชั้นสูงเพื่อปราบมาร แต่ยุคพระธัมมชโยแห่งวัดธรรมกายก็มีการพัฒนารายละเอียดจนกลายเป็นการสอนที่ว่าเดิมจักรวาลมีแต่ความว่างเปล่า และมีฝ่ายขาวและฝ่ายดำ โดยพระธรรมกายเป็นฝ่ายขาว ได้สร้างภาพและสร้างต้นธาตุกายมนุษย์ขึ้น มีลักษณะคล้ายกายทิพย์เพื่อจะทำวิชชาปราบมาร แต่การต่อสู้หลายครั้งถูกฝ่ายดำทำลาย และก็ได้ต่อสู้กันมาเรื่อยจนปัจจุบันฝ่ายดำคือกิเสลที่ทำให้มนุยย์ทำลายกันเอง ส่วนฝ่ายขาวจะส่งคนดีมาปราบมารเสมอ โดยวีรบุรุษสำคัญของฝ่ายขาวคือหลวงพ่อสด จันทฺสโร ที่ล่วงลับไปแล้ว และพระราชภาวนาวิสุทธิ์หรือหลวงพ่อธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
ระยะหลังภาพของหลวงพ่อเจ้าอาวาสเปลี่ยนไปจากการเป็นวีรบุรุษสำคัญคนหนึ่งของฝ่ายขาวกลายมาเป็นอวตารภาคหนึ่งของ "องค์พระธรรมกายต้นธาตุ" เสียเอง ความกลัวเกรงที่มีต่อพระธัมมชโยจึงสูงยิ่ง คำที่กล่าวออกมาจึงเป็นเสมือนวาจาสิทธิ์ที่ใครไม่กล้าโต้แย้ง
สานุศิษย์จึงมีความเชื่อว่าวัดพระธรรมกายเป็นเสาหลักและแม่ทัพหน้าของกองทัพฝ่ายขาว ประโยคที่เป็นภาษิตเตือนใจที่ว่า "เราเกิดมาเพื่อสร้างบารมี" จึงมีความหมายลึกซึ้งไพศาลสำหรับสมาชิก และสร้างความกลัวให้แก่สมาชิกได้ด้วย นอกจากนั้นพระธัมมชโยคือรถไฟขบวนสุดท้ายที่จะขนพาสรรพสัตว์ข้ามวัฏสงสาร และทางรอดเดียวคือการสั่งสมบุญอย่างสุดชีวิตให้ปฏิบัติเข้าถึงธรรมกาย
การปกครองในวัดพระธรรมกายยังมีส่วนที่ทำให้สามารถสร้างบารมีของผู้นำโดยใช้การสร้าง "ระยะห่าง" โดยพระธัมมชโยจะไม่ฉันรวมกับพระลูกวัด ไม่ปรากฏกายให้เห็นบ่อยนัก ไม่รับแขกทั่วไปในกุฏิ ยกเว้นบางราย การที่จะได้พบส่วนใหญ่จะเป็นบ่ายวันอาทิตย์บางอาทิตย์เท่านั้น โดยไม่ลงมาสอนสมาชิกแก่สาธุชนทั่วไป ผู้ที่จะได้เรียนธรรมะจะได้รับการคัดเลือกว่ามีคุณสมบัติพิเศษหรือสมาธิกล้าแข็งพอควรและต้องการเรียนวิชชาธรรมกายชั้นสูง การใกล้ชิดจึงเป็นอภิสิทธิที่ใคร ๆ ปรารถนา และมีการให้รางวัล และการลงโทษ โดยเฉพาะการพาขึ้นดอยไปฝึกสมาธิ์ชั้นสูงแบบเข้มข้นกับพระธัมมชโยในป่าบนเขาสูง เช่นที่ภูกระดึง ซึ่งผู้ที่จะได้รับการพาขึ้นดอยคือผู้ที่ทุ่มเทให้กับวัด
พระในวัดพระธรรมกายยังแบ่งเป็น 2 ระดับ คือพระใน กับพระนอก พระในจะเป็นอุบาสกที่พิสูจน์ตนทำงานอุทิศให้วัดนับสิบปีก่อนบวช และเมื่อบวชจะตั้งสัจจะที่จะบวชตลอดชีวิต ปัจจุบันมีเพียง 10 กว่ารูป ส่วนพระนอกเป็นพระภิกษุที่จะสึกเมื่อไหร่ก็ได้ โดยเป็นการบวชตามธรรมเนียม การปฏิบัติต่อพระในจะมีความเคารพนอบน้อมเป็นอย่างมากในงานพิธีต่าง ๆ ก็นั่งในตำแหน่งสำคัญ ๆ นอกจากนั้นจีวรจะเป็นสัญลักษณ์ของการแบ่งระดับชั้นด้วย จีวรของพระนอกจะเป็นผ้าธรรมดา แต่จีวรของพระในจะทำมาจากป่านสวิสราคาแพง เนื้อผ้าคุณภาพเยี่ยม ห่มแล้วไม่ร้อน และเมื่อย้อมสีจะได้สีเหลืองที่สว่างกระจ่างตายิ่งกว่าสีจีวรทั่วไป