กรุงเทพธุรกิจฉบับ วันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ.2541

หวั่นลัทธิใหม่ เร่งรัฐปฏิรูป 'สถาบันสงฆ์'

วงการพระสงฆ์-นักวิชาการด้านศาสนา พลิกวิกฤติจากการแตกแยกทางความคิดกรณีวัดพระธรรมกาย เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งปฏิรูปสถาบันสงฆ์ ด้วยการแก้ไขพระราชบัญญัติสงฆ์ใหม่ ก่อนที่พุทธศาสนาจะเสื่อมถอย และถูกกลืนหายไปกับศาสนาและลัทธิใหม่

การเสวนาหัวข้อ "กรณีธรรมกาย ข้อเท็จจริงกับการปฏิรูปสถาบันสงฆ์" ซึ่งจัดโดยสถาบันปรีดีพนมยงค์วานนี้ (26ธันวาคม) ได้รับความสนใจจากพุทธศาสนิกชน รวมทั้งพระสงฆ์ร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น ประมาณ 100 คน

ก่อนเริ่มรายการ พิธีกรแจ้งต่อผู้ร่วมงานว่า การเสวนาครั้งนี้ คณะผู้จัดงานได้เชิญผู้แทนจากวัดพระธรรมกาย รวมทั้งนายผ่อง เล่งอี้ อดีตอธิบดีกรมป่าไม้ ผู้มีฐานะทางสังคมสูงที่ศรัทธาในวัดพระธรรมกายคนหนึ่ง ให้เข้าร่วมด้วย แต่ได้รับการปฏิเสธ

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ผู้แทนจากวัดพระธรรมกายจะปฏิเสธเข้าร่วมการเสวนา แต่ก็ลูกศิษย์ของวัดเดินทางมาร่วมสังเกตการณ์ด้วยจำนวนหนึ่ง

การเสวนามีการแสดงความคิดเห็นต่อกรณีของวัดพระธรรมกาย รวมถึงสถาบันสงฆ์ และพุทธศาสนา ค่อนข้างเป็นแนวเดียวกัน โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการปฏิบัติของวัดพระธรรมกาย และเรียกร้องให้มีการสังคายนาสถาบันสงฆ์ โดยการแก้ไขพระราชบัญญัติสงฆ์เสียใหม่

ดร.พระมหาจรรยา สุทธิญาโณ จากวัดอุโมง ตำบลเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า กรณีวัดพระธรรมกาย เริ่มแรกญาติโยมได้อ่านแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องของธรรม แต่ลงท้ายกลับกลายเป็นเรื่องการชักชวนให้ทำบุญมาก ๆ เช่นการเข้าบวชในวัดจะต้องใช้เงินถึง 3,000 บาท โดยใช้วิธีบริหารการตลาด ชักชวนให้คนมาบวชมาก ๆ

ดร.พระมหาจรรยา กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ คนจะต้องหันหน้าเข้าหากันด้วยความรัก และทำให้เกิดความพอดี เช่นสารของวัดพระธรรมกาย ที่อ้างว่าอ่านแล้วรวยนั้นเป็นการไม่สมควร เพราะเป็นสิ่งที่เกินเลยไป ส่วนการสร้างพระรุ่นดูดทรัพย์ ก็ไม่สมควรกระทำ เพราะความหมายไม่ดี

นอกจากนี้ ดร.พระมหาจรรยา ยังตำหนิคำสอนของวัดที่ ประโลมให้ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินแบบสุดฤทธิ์สุดเดช ว่าควรงดเว้น และปล่อยให้มีการบริจาคแบบเสรีตามความสมัครใจ หากทำน้อยแล้วสบายใจ บริสุทธิ์ใจ ก็ได้บุญเท่ากับคนที่ทำมาก นอกจากนี้ ก็ยังมีวิธีปฏิบัติอื่นๆ ที่ได้บุญเช่นกันอีกหลายทาง

โอกาสนี้ ดร.พระมหาจรรยา ได้เรียกร้องให้รัฐบาล รวมทั้งมหาเถรสมาคม และพุทธศาสนิกชน ช่วยกันระดมมันสมองครั้งใหญ่ ด้วยการจัดสัมมนา หรือทำวิจัย เพื่อร่างพระราชบัญญัติสงฆ์ ขึ้นมาใหม่

ดร.พระมหาจรรยา กล่าวว่า การปฏิรูปสถาบันสงฆ์ ต้องเริ่มจากการศึกษาปัญหาที่ผ่านมาว่ามีอะไรบ้าง จากนั้นนำมาเป็นโจทย์แก้ไขทั้งหมดในคราวเดียว เป็นการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส และให้มีพระธรรมวินัยอย่างแท้จริง เพราะถือเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้เมื่อเข้ามารับตำแหน่ง

นอกจากนี้ ดร.พระมหาจรรยา บอกว่า ควรกำหนดให้มีจุดเชื่อมให้ประชาชน สามารถเข้าไปรับรู้เรื่องราวของสถาบันสงฆ์ได้มากขึ้น ไม่ควรปิดเงียบเหมือนในอดีต และให้มีการตั้งคณะธรรมวิระยาภิบาล ซึ่งทำหน้าที่คล้ายศาลรัฐธรรมนูญ คอยตีความปัญหาที่มีการถกเถียงและหาข้อยุติไม่ได้ เพราะสถานการณ์ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ และอาจมีศาสนาใหม่เกิดขึ้น หากไม่มีผู้ตีความจะเกิดปัญหาเหมือนเช่นปัจจุบัน

ดร.พระมหาจรรยา บอกว่า เรื่องที่ต้องเร่งตีความ คือ เรื่องการทำบุญ การออกพระเครื่อง พระพุทธรูป ความหมายของคำว่านิพพาน การบวช และวัตรปฏิบัติของสงฆ์ โดยต้องกำหนดมาตรฐานให้ชัดเจน

ดร.พระสุธี วรญาณ รองอธิการบดี มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย กล่าวว่า การเผยแผ่พุทธศาสนา พระพุทธเจ้าใช้ระบบขายตรงมานานแล้วในการบอกให้ลูกศิษย์แยกกันออกเผยแผ่ศาสนา แต่มีข้อแตกต่างคือ การเผยแผ่ศาสนาในอดีตก็เพื่อให้คนทำกิเลสในใจให้น้อยลง เป็นการติดอาวุธทางปัญญา ไม่ใช่การติดอาวุธทางการเงินเช่นที่เห็นปัจจุบัน

ดร.พระสุธี กล่าวว่า กรณีวัดพระธรรมกาย มีการพัฒนาตนเองอย่างเป็นขั้นตอน ตั้งแต่ช่วง 10 ปีแรกมีประชาชนให้ความนิยม และมีการลงทุนสูง มีแผนที่จะเผยแผ่ศาสนาออกสู่นานาชาติ ขณะที่มหาเถรสมาคม เคยมีหนังสือแจ้งขอความร่วมมือให้ทุกวัดชะลอการก่อสร้างที่ใหญ่โตและสิ้นเปลืองลง รวมทั้งการเดินทางไปต่างประเทศ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันไม่ดี

"การลงทุนของวัดพระธรรมกาย ต้องดูว่าเป็นการกระทำโดยญาติโยม เพื่อสนับสนุนองค์กรให้แข็งแกร่งและเพื่อให้เป็นสากล หรือไม่ เพราะหากเป็นการกระทำของพระ ก็คงจะไม่ถูกต้อง แต่ก็ไม่อยากให้หนังสือพิมพ์เสนอข่าวและตัดสินใจเร็วเกินไปว่าขณะนี้วัดพระธรรมกายทำผิดไปแล้ว เหมือนกับกรณีที่ธูปยักษ์ถล่มที่จังหวัดนครปฐม ก็เรียกร้องให้เจ้าอาวาสศึกทันที" ดร.พระสุธี กล่าว

นายทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเคยทำวิจัยเรื่องวัดพระธรรมกาย กล่าวว่า วัดพระธรรมกายคิดว่าศาสนาเป็นสินค้าคุณภาพ จึงเข้ามาบริหาร และทำการตลาด โดยใช้ระบบขายตรง มีผู้นำหน่วย ซึ่งผิดเจตนาของพุทธศาสนา เพราะบุญคือความบริสุทธิ์ของผู้ทำ ขณะที่วัดพระธรรมกายใช้บุญเป็นสินค้า และใช้เรื่องอภินิหารมาช่วย

"มุ่งเน้นที่คนชั้นสูงและคนชั้นกลาง เพราะต้องการเงินมาบำรุงวัด เป้าหมายของวัดนี้เป็นเรื่องเงิน ทำให้วัตถุประสงค์ของศาสนาผิดไป คิดแต่จะทำสิ่งที่ใหญ่โต เพื่อให้คนเข้ามาหาศาสนา เป็นการเฉไฉจากเป้าหมายของศาสนา" นายทวีวัฒน์ กล่าว

นายทวีวัฒน์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้วัดพระธรรมกาย ยังมีการนำเงินบริจาคไปลงทุนเพื่อผลประโยชน์ ซึ่งไม่ถูกต้องและการอ้างว่าเพื่อให้เกิดผลตอบแทนตามมาก็ไม่ถูกต้อง เพราะพระสงฆ์ต้องพอใจจากปัจจัย ที่ผู้คนบริจาคให้ การนำไปลงทุนเพื่อเอากำไร อาจทำให้จิตใจเฉไฉไปทางอื่นได้

นายทวีวัฒน์ กล่าวอีกว่า คำสอนของวัดพระธรรมกายที่เน้นว่า ผู้ที่ร่ำรวยในชาตินี้ เพราะในอดีตทำบุญมาก ผู้ที่ยากจนเพราะไม่ได้ทำบุญนั้น เรียกได้ว่าเป็นพุทธศาสนาของชนชั้นปกครอง ละเลยกับความจริงที่ว่า ผู้ที่รวยอาจโกงมาก็ได้ และยังทำให้คนจน ไม่ดิ้นรนต่อสู้ เก็บความหวังไว้ในชาติต่อไป

"ขอเตือนว่าในอดีต ที่ประเทศอินเดีย ศาสนาพุทธเคยเสื่อมลง และศาสนาฮินดูเข้ามาแทนที่ก็เพราะมีคนตีความคำสอนของพระพุทธเจ้าผิด และนำไปเผยแพร่ในสิ่งที่ผิด ซึ่งปรากฏการณ์นี้กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย ถือเป็นความเป็นความตายของพุทธศาสนา จึงขอสนับสนุนให้มีการร่างพระราชบัญญัติสงฆ์ขึ้นมาใหม่ เพื่อพัฒนาพระพุทธศาสนา ขจัดสิ่งที่ไม่ถูกต้อง" นายทวีวัฒน์ กล่าว และว่าพระราชบัญญัติสงฆ์ ฉบับปัจจุบันมีบางส่วนขัดรัฐธรรมนูญ อีกทั้งเป็นการร่างขึ้นโดยรัฐบาลเผด็จการในอดีต

นายธรรมเกียรติ กันอริ อาจารย์พิเศษในมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย กล่าวว่า ในอดีต วัดพระธรรมกายเคยมีข่าวลูกศิษย์พกปืนขับไล่ชาวบ้านและโรงเรียนให้ออกจากที่ดินใกล้บริเวณวัด ทั้งที่วัดมีที่ดินเพียงพอต่อการปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว และมาคราวนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่โตอีก เพราะสภาเศรษฐกิจของไทยตกต่ำ เป็นหนี้ ไอเอ็มเอฟ

นายธรรมเกียรติ กล่าวว่า พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชดำรัสให้ดำรงเศรษฐกิจพอเพียง แต่วัดพระธรรมกายกลับทำการตลาด โฆษณาสร้างพระพุทธรูป และเจดีย์ใหญ่โต ซึ่งไม่สมเหตุสมผล กับการที่บอกว่า สร้างเพื่อรองรับคนที่จะมาทำบุญนับล้านคนในปีค.ศ. 2000 เพราะแนวคิดของศาสนา คือเมื่ออุทิศตนเข้ามาบวชแล้ว ต้องปฏิบัติธรรม ไม่ต้องคิดว่าจะสร้างอะไรให้ใหญ่โต อีกทั้งจำนวนคนที่มาก ๆ ก็ไม่ได้ช่วยให้ศาสนาเจริญ

นายธรรมเกียรติ ยังกล่าวตำหนิบทบาทของมหาเถรสมาคม ด้วยว่า ในอดีต เคยมีความเด็ดขาด จัดการเรื่องต่าง ๆ ได้ แต่ปัจจุบัน กลับอ่อนต่อการสั่งสอน และการตรวจสอบวินัย เช่นกรณี พระกิตติวุฒิโท ที่แม้ศาลแพ่งจะตัดสินแล้วว่ามีความผิด แค่มหาเถรสมาคม กลับให้รอการตัดสินของศาลฎีกาอีก

"แม้จะมีการปฏิรูปสถาบันสงฆ์ผมก็ยังสิ้นหวัง และไม่คิดว่าจะดีขึ้นได้" นายธรรมเกียรติ กล่าว