พระอักษร'สังฆราช'ระบุ ปฏิบัติหน้าที่สมบูรณ์แล้ว

สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระอักษรฉบับล่าสุดว่า กรณีวัดพระธรรมกาย ทรงทำหน้าที่สมบูรณ์ตามอำนาจแล้ว จะไม่ทรงพูดอะไรอีกขณะนี้ ขณะที่ พระพยอม ระบุ เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ไม่รู้จะเอาความเป็นพระไว้ส่วนไหน และด้านราษฎรอาวุโส แนะสังคายนาการพระศาสนา โดยเฉพาะองค์กรมหาเถรสมาคม

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระอักษรฉบับล่าสุดลงวันที่ 1 พ.ค. ความว่า ในกรณีเกี่ยวกับเรื่องวัดพระธรรมกาย เราได้ทำหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราช สมบูรณ์ตามอำนาจแล้ว จึงไม่มีอะไรจะพูดอีกขณะนี้ ขออนุโมทนาทุกท่านที่สนใจห่วงใยพระพุทธศาสนา แสดงความเป็นคนดี ด้วยมีกตัญญูกตเวทิตาธรรม

พระราชรัตนมงคล เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กล่าวว่า จากพระอักษรที่ออกมา แสดงให้เห็นว่าพระองค์ได้พูดตามหลักพระธรรมวินัย ถือเป็นความเมตตาของสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งไม่ได้เจาะจงว่าใครจะต้องถือปฏิบัติ และในฐานะที่เป็นเลขานุการ ก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสม ที่มีพระอักษรออกมาเช่นนี้ เพราะพระสงฆ์ทั่วประเทศจะได้รับทราบ และปฏิบัติตามพระธรรมวินัย เนื่องจากสมัยนี้พระสงฆ์ส่วนหนึ่ง มักไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยมากขึ้น

อนึ่ง ในวันนี้ เวลา 08.00 น. สมเด็จพระสังฆราช ทรงประทานวโรกาสให้สื่อมวลชนได้เข้าเฝ้าที่คณะเหลืองรังสี วัดบวรนิเวศน์

ด้านพระพิศาลธรรมพาที หรือ พระพยอม กัลยาโณ ประธานมูลนิธิวัดสวนแก้ว กล่าวว่า พระอักษรของสมเด็จพระสังฆราช ถ้าพูดกันตามสามัญชนทั่วไป ที่มีความรู้ในด้านพระพุทธศาสนา ใครที่คิดจะยักยอกทรัพย์สินอย่างที่ดินเป็นจำนวนขนาดนี้ ความเป็นพระก็ไม่รู้จะไว้ตรงไหน และยิ่งไปอวดอ้างทำคำสอนให้คลาดเคลื่อน ตีความเองตามที่ใจรู้สึก เป็นการทำให้พระสงฆ์แตกแน่นอน เพราะฝ่ายที่ยังต้องการหลักการอยู่รับไม่ได้

ดังนั้น ตอนนี้พระอักษรของสมเด็จพระสังฆราชถือว่าชัดเจนที่สุดแล้วที่พระธัมมชโย ควรจะรีบปฏิบัติตาม และฝ่ายเราที่เป็นพระที่รู้ที่เรียนมาเขารับไม่ได้มานานแล้วว่าทำไมต้องแอบอ้างว่าถวายกับพระพุทธเจ้าได้ อ้างปาฏิหาริย์ อ้างฤทธิ์ อ้างเดช จนกระทั่งมาอ้างที่แย่ที่สุดที่เป็นรูปธรรม ไม่เป็นนามธรรม เหมือนเรื่องคำสอน คือเรื่องที่ดินจะอ้างว่าไม่มีเงินไปโอน ไปทำอะไรใหญ่โต ตั้งราคาเป็นพันล้านหมื่นล้านได้ ตรงนี้แสดงเจตนาอะไร

พระพยอม ยังกล่าวว่า เวลานี้มีการวิพากษ์วิจารณ์บทบาทมหาเถรสมาคมกันมากที่ไม่กล้าจัดการมีคนกล้าพูด ในลักษณะที่ไม่เคยพูดมาก่อน เท่าที่สังเกต สังคมกำลังรู้สึกอย่างนั้น

ราษฎรอาวุโสแนะสังคายนาพุทธศาสนา

ศ.น.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวว่า ปัญหากรณีวัดพระธรรมกายที่เกิดขึ้น เชื่อว่าไม่ได้มีแค่วัดพระธรรมกายเพียงแห่งเดียว แต่ยังมีสำนักต่างๆ ที่ทำไม่ถูกต้องจำนวนมาก เพียงแต่การจัดการไม่เก่งเท่าวัดพระธรรมกาย ดังนั้น เมื่อเกิดเรื่องเช่นนี้ ควรถือโอกาสปรับปรุง หรือสังคายนาการพระศาสนาทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องการปรับปรุงองค์กรมหาเถรสมาคม เพราะการจัดองค์กรขณะนี้เป็นการจัดแบบระบบราชการ ซึ่งรวมศูนย์อำนาจไว้เพียงแห่งเดียว ทำให้การดำเนินการได้ผลน้อย และผู้ที่อยู่ในองค์กรมหาเถรสมาคม

ก็จะต้องเหนื่อย

"คนที่ยืนตรงศูนย์อำนาจก็เหมือนรัฐบาล และตัวมหาเถรสมาคม ก็จะเหนื่อย ท่านอายุมากแล้ว ดังนั้นควรจัดวางเรื่องการกระจายอำนาจ มีคนอื่นทำ มีใครช่วยทำ ท่านจะได้ไม่เหนื่อย และอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพ เพราะท่านเป็นผู้อาวุโส ควรตั้งเป็นที่เคารพ แต่ถ้าท่านลงมาบริหาร และบริหารไม่เก่ง ความเคารพก็จะเสื่อมไป คนก็จะเข้าไปดูถูก ดูหมิ่นท่าน ไปโจมตี ประท้วงอย่างที่เห็น"

นอกจากนี้ ศ.น.พ.ประเวศ ยังเห็นว่า ควรจะต้องมีการปรับปรุงหลักธรรม หรือพระธรรมวินัยโดยควรตรวจสอบให้ชัดเจน เรื่องการบวชพระควรจะมีความเข้มงวดในการคัดเลือกคนเข้าไปบวชพระให้มากขึ้น ต้องจัดเรื่องการศึกษาของพระให้ดี และเรื่องการลงโทษพระที่ทำผิดพระธรรมวินัย ว่าควรจะมีกระบวนการที่เข้มแข็งกว่านี้

ธรรมกายเลือกปฏิบัตินักข่าว

สำหรับบรรยากาศภายในวัดพระธรรมกาย นั้น วัดยังคงมีความเข้มงวดตรวจตราผู้สื่อข่าวเหมือนกับทุกวัน โดยผู้สื่อข่าวต้องรออยู่ด้านนอก เพื่อรอเจ้าหน้าที่ของวัด ขับรถออกมารับโดยมีเพียงผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวไทย 2 คนเข้าไปในวัด โดยบอกว่าจะพาไปพบนายวีระศักดิ์ ฮาดดา หัวหน้ามูลนิธิวัดพระธรรมกาย

ด้านหัวหน้าสำนักงานมูลนิธิวัดพระธรรมกาย ได้นำผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย เยี่ยมชมการประกอบกิจกรรมภายในวัด เป็นครั้งแรกหลังมีพระอักษรของสมเด็จพระสังฆราช แต่ยังคงไม่ได้พบเจ้าอาวาส ซึ่งมีกำหนดจะออกปฏิบัติศาสนกิจในเช้าวันนี้ (2) และพระทัตตชีโว จะชี้แจงสถานการณ์ของวัดด้วย

ศิษยานุศิษย์เดินทางมาเป็นระยะ

ผู้สื่อข่าวรายงาน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของวัดประมาณ 6-7 คน ยังคุมเข้มไม่ให้สื่อมวลชนเข้าไปภายในบริเวณวัด โดยใช้วิธีตรวจตราดูหน้าตาและภายในรถของผู้ผ่านเข้าออกอย่างละเอียดทุกคัน และได้มีการกำชับให้ตรวจหากล้องในรถที่ผ่านเข้าออกด้วยว่า มีใครพกพาเข้าไปภายในวัดหรือไม่ แต่จนถึงขณะนี้ยังมีรถยนต์ส่วนบุคคลหลากหลายประเภทเข้าออกเหมือนเป็นปกติ เพียงแต่มีการตรวจเข้ม

ขณะที่เจ้าหน้าที่วัดกล่าวกับสื่อมวลชนว่า ทุกอย่างภายในวัดเป็นปกติ เมื่อยังไม่มีหนังสืออะไรมาถึง ก็ยังไม่มีสิ่งใดต้องชี้แจง รวมทั้งยืนยันว่า เหตุการณ์ทุกอย่างปกติ ศิษยานุศิษย์ที่มาวัด ก็มาเพื่อทำบุญถวายภัตตาหารเพลพระ แม้จะมีประชาชนมาไม่มาก แต่ให้สื่อมวลชนมาทำข่าวในวันนี้ (2 ) ซึ่งเป็นวันจัดงานบุญจะมีประชาชนมามากกว่า

เลี่ยงพระอักษรสังฆราชไม่ได้หมายถึงธรรมกาย

นายวีรศักดิ์ ฮาดดา ระบุถึง พระอักษร ของสมเด็จพระสังฆราช ว่า เนื้อความที่ทรงมีพระราชวินิจฉัยไม่ได้หมายถึงหรือระบุถึงวัดพระธรรมกาย แต่หมายถึงวัดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นภาพรวมกว้างๆ ดังนั้น เมื่อวัดพระธรรมกายไม่ได้รับหนังสือใดก็ไม่มีเหตุจำเป็นต้องชี้แจง ทั้งนี้ การถวายที่ดินของผู้มีศรัทธาต้องการถวายต่อพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (พระธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย แต่ละครั้งก็เป็นความเต็มใจของผู้ให้ รวมทั้งเป็นการขอร้องให้เจ้าอาวาสรับไว้

ดังนั้น แม้ที่ดินจะเป็นชื่อของพระธัมมชโย ก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดอาบัติปาราชิกเพราะเจ้าอาวาสไม่ได้ฉ้อโกงหรือขโมยของใคร

พระทัตตชีโวจะอธิบายศิษย์วันนี้

นายวีรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า วันนี้ เจ้าอาวาสจะลงปฏิบัติกิจเทศนาแก่ศิษยานุศิษย์ตามปกติ ตั้งแต่เวลา 09.00 น.จากนั้น พระภาวนาวิริยคุณ (พระทัตตชีโว) รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย จะเป็นผู้อธิบายต่อผู้มาปฏิบัติธรรมว่า สถานการณ์ที่แท้จริงของทางวัดเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ นายวีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า พระธัมมชโย มีปณิธานของท่านอยู่แล้วว่าจะบวชไม่สึกตลอดชีวิตเพื่อทำงานให้เผยแผ่พุทธศาสนาให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก ดังนั้น ที่ดินจะเป็นของใครก็ไม่มีความสำคัญ

ศธ.ปทุมธานีอึดอัดไม่มีคำสั่งจัดการธรรมกาย

นายธนัญชัย สุทธิชัย ผู้ช่วยศึกษาธิการอำเภอคลองหลวง กล่าวว่า นับเป็นเรื่องดีที่สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระอักษรออกมา ยอมรับว่าทุกวันที่มีข่าวเรื่องวัดพระธรรมกาย เขาและคณะทำงานอึดอัดมากในการทำงาน เนื่องจากไม่ทราบว่าคณะสงฆ์ต้องการอะไร

"ฝ่ายฆาราวาสทำงานด้วยความอึดอัด เพราะที่แน่ๆ พวกเราต่างนับถือศาสนาพุทธและวัดพระธรรมกายเป็นวัดใหญ่ การควบคุมดูแลเป็นเรื่องลำบาก และเป็นไปได้ยาก ต่อไปนี้คงทำงานด้วยความสบายใจ และตัดสินใจง่ายขึ้น เพราะมีแนวทางให้พวกเราทำงานแล้ว"

"อำนวย"ยัวะกรมศาสนาเฉื่อย

ด้านนายอำนวย สุวรรณคีรี ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลป และวัฒนธรรม กล่าวว่า พระอักษรดังกล่าว จะติดขัดกับปัญหาในการปฏิบัติอย่างใด นั้น กรมการศาสนา น่าจะวิเคราะห์ออกมาให้ละเอียด ทั้งในแง่กฎหมายทางโลก และตาม พ.ร.บ.สงฆ์ รวมทั้งเสนอรายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นคณะสงฆ์ฝ่ายปกครอง หน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงมหาดไทย สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ หรือ ควรจะเข้าเฝ้าเพื่อสอบถามพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราช ไม่ใช่มาตีความพระอักษรเอง และยื้อกันไปมา เช่นนี้


กรุงเทพธุรกิจฉบับ วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2542