ชำแหละอภินิหารวัดธรรมกาย (หลักฐานมาอีกแล้วครับ)
เนื้อความ : เนื่องจากช่วงนี้มีการถกเถียงกันมากเกี่ยวกับประเด็น "อิทธิปาฏิหาริย์" ที่ทางวัดธรรมกาย
ได้ลงโฆษณาทางหน้าหนังสือพิมพ์ ว่าเป็นสิ่งที่ผิดหรือถูกต้อง หรือ มีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงไร
ผู้เขียนจึงขอเสนอบทความวิเคราะห์เรื่องอิทธิปาฏิหาริย์โดยอ้างอิงหลักฐานจากพระไตรปิฎก
โดยเหตุที่ต้องอ้างอิงหลักฐานจากพระไตรปิฎกเป็นหลัก เนื่องจากวัดพระธรรมกายได้ขื้นชื่อว่าเป็นวัดหนึ่ง
ในพุทธศาสนานิกายเถรวาท (เครื่องแต่งกายนักบวช และ ระเบียบวินัยประเพณีเป็นเครื่องบ่งชี้)
ทางพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทนั้นจะยึดถือว่าคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสำคัญ ซึ่งหลักฐานดั้งเดิมที่สุดคือ
คำสอนของพระพุทธองค์ที่ปรากฏอยู่ใน "พระไตรปิฎก"
ที่จริงยังมีพุทธศาสนาอีกสายหนึ่งที่เผยแพร่ไปทางตอนเหนือของอินเดียผ่านทางประเทศจีน มีชื่อ
เรียกกันทั่วไปว่าพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน พุทธฝ่ายนี้จะยึดเอาคำสอนของอาจารย์เป็นหลักมากกว่าคำสอนในพระ
ไตรปิฎก ดังนั้นฝ่ายมหายานจึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนื่งว่า "อาจารยวาท" ซึ่งความเห็นของอาจารย์แต่ละท่าน
ต่างก็มีความเชื่อที่แตกต่างกันไป ประเภทร้อยอาจารย์ร้อยลัทธิความเชื่อ ลุ่มลึกบ้าง งมงายบ้าง
บ้างก็ถือนิพพานเป็นแดนสุขาวดี บ้างก็ถือนิพพานเป็นอัตตา บางสำนักวัตรปฏิบัติเคร่งครัด
บางสำนักย่อหย่อนพระมีภรรยาได้ ก็มี เอาอะไรแน่นอนไม่ได้ แตกเป็นนิกายย่อยๆ อีกมากมายนับร้อย ๆ
สำนักเลยทีเดียว ในกรณีวัดพระธรรมกายเป็นที่ทราบกันดีว่าชอบอ้างคำสอนของอาจารย์ว่านิพพานเป็นอัตตา
มากกว่าจะยอมรับคำสอนในพระไตรปิฎก ที่ว่านิพพานเป็นอนัตตา จึงมีลักษณะความเชื่อแบบพุทธมหายาน
(อาจารยวาท) คือ เชื่อคำสอนของอาจารย์ (หลวงพ่อสด) ที่ค้นพบ วิชชาธรรมกาย ว่าสำคัญกว่าคำสอนของ
พระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก ดังนั้นจึงไม่เรื่องที่ผิดอะไรถ้าหากธรรมกายนั้นเป็นพุทธแบบมหายาน
แต่ทั้งนี้เนื่องจากวัดธรรมกายในขณะนี้ยังอ้างตัวเองว่าเป็นชาวพุทธฝ่ายเถรวาทอยู่
(ดูจากลักษณะการแต่งกายของนักบวชและ ระเบียบวินัยประเพณี ) ก็คงต้องถือว่าวัดธรรมกายยังเป็นพุทธ
ในนิกายเถรวาทอยู่ ซึ่งถ้าหากต้องมีการตรวจสอบความถูกต้อง ก็คงต้องนำหลักฐานของพุทธศาสนานิกาย
เถรวาท คือ "พระไตรปิฎก" มาเป็นมาตราฐานในการตรวจสอบวัดธรรมกายว่ามีข้อวัตรปฏิบัติได้ถูกต้อง
มากน้อยเพียงไร (ยกเว้นธรรมกายจะยอมเปลี่ยนนิกายและเครื่องแต่งกายให้เป็นมหายาน ซึ่งเป็นเสรีภาพของ
ธรรมกายที่สามารถทำได้ และ เมื่อกลายเป็นมหายานก็เป็นอันหลุดพ้นจากข้อหาทั้งปวงของทางเถรวาท
ไปโดยปริยาย )

"ิอิทธิปาฏิหาริย์ที่มีมาในพระไตรปิฎก"

ในประเด็น "อิทธิปาฏิหาริย์" นี้ตามที่ค้นคว้าในพระไตรปิฎกพบว่า มีวินัยห้ามมิให้พระภิกษุ
แสดงอิทธิปาฎิหาริย์ หากฝ่าฝืนถือเป็นอาบัติทุกกฏ( วินัย เล่ม7 จุลลวรรค ภาค2 ข้อ33)
เนื่องจากการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์จะก่อให้เกิดโทษมากมายทั้งต่อประชาชนและคณะสงฆ์
อันได้แก่ * (หลักฐานอ้างอิงในแต่ละข้อ ให้ท่านค้นคว้าจากพระไตรปิฎกตามฉบับที่หมายเหตุไว้ข้างล่าง)

1. ทำให้ลาภสักการะเจริญแก่พระภิกษุผู้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ (ถึงแม้ภิกษุรูปนั้นจะไม่มีเจตนาแสวง
หาลาภก็ตาม) จนในที่สุดทำให้เกิดความมักมาก และความไม่สันโดษ แก่หมู่คณะ

(อ่านเรื่อง พระปิลินทวัจฉะแสดงปาฏิหาริย์ช่วยคนให้พ้นผิด แต่เป็นผลทำให้ผู้คนตื่นเต้น
หลงไหลนำลาภสักการะมาถวายมากมาย จนประชาชนทั่วไป เพ่งโทษ ติเตียน ว่าวัดร่ำรวย
ผิดปรกติ )
(วินัย.เล่ม 2 มหาวิภังค์ ทุติยภาค ข้อ 139 หน้า 145)


2. ทำให้คนหลงไหลตื่นเต้นเฉพาะแต่พระภิกษุที่ชอบทำอิทธิปาฏิหาริย์ จนไม่สนใจพระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
หรือ ไม่สนใจแม้แต่องค์พระศาสดาเลยด้วยซ้ำไป

(อ่านเรื่อง พระสาคตเถระแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้ประชาชนแปดหมื่นได้ชม ตรงพระพักตร์
(ต่อหน้า)พระพุทธเจ้า ทำให้ประชาชนสนใจแต่พระสาคตเถระที่แสดงปาฏิหาริย์ และมองข้าม
พระศาสดาไป ตามคำบอกเล่าของพระอานนท์กล่าวถึงเหตุการณ์ที่หลังจากพระสาคตะเถระ
ได้แสดงปาฏิหาริย์แล้วว่า.. " ประชาชนชาวตำบลแปดหมื่นนั้นเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค
แล้วถวายบังคมนั่งที่ควรส่วนข้างหนึ่ง และ พวกเขาพากันสนใจแต่พระสาคตะเท่านั้น
หาได้สนใจต่อพระผู้มีพระภาคไม่.."
(วินัย.เล่ม5 มหาวรรค ภาค2 ข้อ1 หน้า2 บรรทัด 20 )

3. อิทธิปาฏิหาริย์ไม่ใช่วิชชาในพุทธศาสนา แต่เป็นไสยศาสตร์ชนิดหนึ่งที่ไม่ควรส่งเสริม
เพราะจะทำให้คนโง่เขลายิ่งเกิดความหลงไหลมากขึ้น และ ทำให้ผู้รู้ผู้มีสติปัญญาคิดดูหมิ่น
ดูแคลนพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาเหลวไหลได้ที่แต่แสดงไสยศาสตร์เหมือนอย่างลัทธิอื่นๆ

(อ่านเรื่อง พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงลักษณะของการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ว่าเป็นไสยศาสตร์ชนิด
หนึ่ง ที่ไม่เป็นประโยชน์ในการชักจูงผู้มีปัญญาเข้ามาเลื่อมใสในพุทธศาสนา และเมื่อพระพุทธ
องค์อธิบายลักษณะของอิทธิปาฏิหาริย์แล้ว พระพุทธองค์ถึงกับสรุปในตอนท้ายว่า
"..ดูกรเกวัฏฏ์ เราเล็งเห็นโทษในอิทธิปาฏิหาริย์อย่างนี้แล จึงอึดอัด ระอา เกลียดอิทธิปาฏิหาริย์" )
(สุตตันต. เล่ม1 ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค ข้อ339 หน้า307 บรรทัด13)


กรณีในคำถามที่ว่า แล้วเหตุไฉน ในบางครั้งพระพุทธองค์หรือพระสาวกบางรูปจึงมีการ
แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ในกรณีนี้ถ้าท่านได้ลองอ่านมูลเหตุทุกครั้งที่ปรากฏ
อิทธิปาฏิหาริย์ในพระไตรปิฎก ท่านจะพบว่าเหตุที่พระพุทธองค์จะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์นั้นมีอยู่ประการ
เดียว คือ มุ่งจูงใจคนในลัทธินอกศาสนาต่าง ๆ ที่สนใจปาฏิหาริย์อยู่แล้วให้หันมานับถือพุทธศาสนา
(โดยคำสอน) ซึ่งแตกต่างจากการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ของพวกลัทธินอกพุทธศาสนาทั่วไปที่มุ่งแสดง
อิทธิปาฏิหาริย์เพียงเพื่อมุ่งแสวงหาลาภสักการะเท่านั้น ดังดำริของฤาษีชฎิลอุรุเวลกัสสปเมื่อพบว่า
พระพุทธเจ้าสามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้ ก็ถึงกับมีความกังวลดำริในใจอันแสดงความรู้สึก
ห่วงลาภสักการะของตนว่า..
" ถ้าพระมหาสมณะจักทำอิทธิปาฏิหาริย์ในหมู่มหาชน ลาภสักการะจักเจริญยิ่งแก่พระมหา
สมณะ ลาภสักการะของเราจักเสื่อม โอ ทำไฉน วันพรุ่งนี้ พระมหาสมณะจึงจะไม่มาฉัน.."
(วินัย.เล่ม 4 มหาวรรค ภาค1 ข้อ43 หน้า41 บรรทัด13)
ฤาษีชฎิลอุรุเวลกัสสป ในสมัยก่อนสถาปนาพุทธศาสนา ประชาชนส่วนใหญ่ต่างหลงคิดเอาว่า
ท่านเป็นพระอรหันต์ เพราะท่านสามารถแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ได้มากมาย แม้แต่ตัวท่านเองก็หลงคิดว่า
ตัวเองเป็นพระอรหันต์เช่นเดียวกัน พระพุทธองค์ซึ่งสมัยนั้นเพิ่งทรงตรัสรู้ใหม่ ๆ กำลังเริ่ม
สถาปนาศาสนา จึงจำเป็นต้องทำให้ฤาษีชฏิลฯผู้ที่ประชาชนให้ความเคารพนับถือทั้งบ้านทั้งเมือง
ให้หันมายอมรับนับถือพระพุทธศาสนาเสียก่อน จึงจะสามารถประกาศศาสนาได้อย่างราบรื่น
ในขั้นตอนแรกพระพุทธองค์จึงจำต้องแสดงฤทธิ์ที่ยิ่งกว่าให้ฤาษีชฎิลฯ ได้ประจักษ์
จนฤาษีชฎิลฯผู้นิยมในฤทธิ์เกิดความยำเกรงยอมรับเคารพพระพุทธองค์เป็นศาสดา (เพียงแค่เห็นฤทธิ์ที่
เหนือกว่าก็ยอมเสียแล้ว โดยที่ยังมิทันได้ ฟังธรรมสักข้อ) และ ขอบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา
เมื่อบริวารชฎิลทั้งหลายเห็นหัวหน้าของตนกลายเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าไปแล้ว
ก็เกิดศรัทธาในพระพุทธองค์ทยอยตามเข้ามาบวชมากมายถึง 1000 รูป ซึ่งหลังจากพุทธองค์ได้เปลี่ยน
จิตใจอันกระด้างของเหล่าชฎิลที่ถือตนว่ามีฤทธิอิทธิปาฏิหาริย์ให้กลับกลายมาเป็นคนว่าง่าย เปิดใจ
รับฟังคำสอนพระพุทธองค์แล้ว พระพุทธองค์จึงค่อยเริ่มแสดงธรรมแก่หมู่ฤาษีชฎิลอันเป็นสาระสำคัญของ
พุทธศาสนาในพระสูตรที่มีชื่อว่า "อาทิตตปริยายสูตร"ผลคือ พระภิกษุทั้ง1000รูปบรรลุอรหัตตผล
(การแสดงธรรมให้ผู้ฟังเกิดดวงตาเห็นธรรม หรือ บรรลุธรรมถือได้ว่าเป็นปาฏิหาริย์ที่แท้จริง
มีชื่อเรียกโดยเฉพาะว่า "อนุศาสนีปาฏิหาริย์ "อันเป็นปาฏิหาริย์ชนิดเดียวเท่านั้นที่พระพุทธองค์ทรง
ยกย่องว่าเป็นเลิศกว่าปาฎิหาริย์ทั้งปวง)

ในกรณีที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนี้ จะเห็นได้ว่ามีเพียงเหตุผลเดียวที่พระพุทธองค์จะทรงแสดง
อิทธิปาฏิหาริย์ คือ กรณีต้องการจะดึงคนนอกศาสนาที่หลงไหลในอิทธิปาฏิหาริย์อยู่แล้วให้หันยอมรับ
ในตัวพระพุทธองค์ เพื่อเป็นเปิดโอกาสให้พระพุทธองค์ได้แสดงธรรม อันเป็นสาระสำคัญทางพุทธศาสนา
เท่านั้น หาใช่ การแสดงอิทธิปาฏิหาริย์เพื่อมุ่งลาภลักการะอันเป็นสิ่งที่ลัทธินอกศาสนาอื่น ๆ ชอบกระทำไม่

แต่เนื่องจากการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์มีผลเสียหายหลายประการดังที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้นใน
กรณีพระภิกษุแสดงอิทธิปาฏิหาริย์เองโดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการกระทำที่ผิด เป็นอาบัติ
(ยกเว้นพระภิกษุได้รับฉันทานุมัติจากพระศาสดาให้แสดงได้ในบางครั้ง เช่น พระโมคคัลลานะ
พระสาคาตะเถระ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ก็เพื่อปราบทิฐิพวกนอกศาสนา โดยไม่เคยมีสักครั้งเดียวที่ทรง
อนุญาตให้พระภิกษุแสดงเพื่อมุ่งต้องการลาภสักการะเลย)

ถึงตรงนี้จึงขออนุญาตถามถึงมูลเหตุจูงใจของวัดพระธรรมกายว่าแสดงอิทธิปาฏิหาริย์เพื่อวัตถุ
ประสงค์อันใด

โดยจะขอคัดเอาข้อความโฆษณาบางส่วนจากหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ฉบับวันพุธที่ 30 กันยายน
พ.ศ.2541 มาตรวจสอบ ดังต่อไปนี้

1. คำพูดคัดลอกโดยย่อจากประสบการณ์จริงของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ วันที่ 6 กย.41 ซึ่งมี
อยู่ 8 ท่าน แต่ละท่านจะสังเกตุได้ว่าเป็นตัวแทนจากผู้มีการศึกษาดี น่าเชื่อถือทุกท่าน อาทิเช่น
ประธานกรรมการบริษัท ,วิศวกร, นายทหาร,ดอกเตอร์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
ซึ่งมีประสบการณ์พบเห็นอิทธิปาฏิหาริย์ที่คล้าย ๆ กันดังจะขอ
ยกตัวอย่างมาสักหนึ่งท่านดังต่อไปนี้
ดร.(ขอสงวนนาม) / "ตื่นเต้นจนต้องขยี้ตาถึง2-3ครั้ง ที่เห็นหลวงพ่อวัดปากน้ำนั่ง
ในท่าขัดสมาธิและ มีดวงอาทิตย์ปรากฏซ้อนอยู่กลางท้องท่าน ซึ่งดวงที่ซ้อนนั้นจะ
มีสีสลับกันไปไม่เหมือนกัน เป็นวง ๆ มองด้วยตาเปล่า 20 นาที จนตื่นเต้นอย่าง
สุดประมาณ"

ส่วนข้อความที่คัดให้อ่านต่อไป น่าจะเป็นเครื่องแสดงเจตนาว่าธรรมกายมุ่งแสดงปาฏิหาริย์
เพื่อเป็นปราบคนดื้อนอกศาสนาให้หันมานับถือพุทธศาสนา(ดังคำอ้างมาจากสมาชิกธรรมกาย
หมายเลข072) หรือว่าเป็นการมุ่งเป็นการอื่น (ข้อ 2-3)

2. "อย่ารอให้สิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้น อานุภาพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์พร้อมจะเกิดขึ้นแก่ผู้เชื่อมั่นใน "บุญ"
จงเร่งสร้าง "บุญ" ให้มาก ๆ วันนี้ยังนับว่ายังช้า...แต่ถ้ารอถึงพรุ่งนี้อาจจะสายเกินไป "

"บุญ"ในความหมายของวัดธรรมกายหมายถึงอะไร ย่อมเข้าใจได้ไม่ยากจากข้อความ
ในกรอบสีน้ำเงินด้านล่างขวาของหน้าโฆษณาที่เขียนไว้ว่า...

3. "สอบถามรายละเอียดและบริจาคปัจจัย เพื่อสร้างองค์พระธรรมกายประจำตัวได้ที่วัดพระ
ธรรมกาย (ระบุทั้งที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ให้ติดต่อบริจาคทั้งสายตรง ,มือถือ,เพจเจอร์
รวมทั้งสิ้นประมาณ 50 เลขหมาย )

จากหลักฐานที่คัดมาจากโฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธรรมกาย
แสดงอิทธิปาฏิหาริย์เพียงเพื่อมุ่งแสวงหาลาภสักการะ เหมือนกับลัทธินอกศาสนาอื่น ๆ นั่น
เอง ซึ่งการกระทำเช่นนี้ตามหลักพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทย่อมถือเป็นการกระทำที่ผิดวินัย
อย่างแน่นอน

ดังจะขอยกคำสอนของพระพุทธองค์ที่กำราบพระภิกษุที่ชอบแสดงปาฏิหาริย์
เพื่อแสวงหาลาภ มาแสดง ณ ที่นี้อีกครั้งหนึ่ง
ดังต่อไปนี้
(อ้างอิงจาก วินัย เล่ม7 จุลลวรรค ภาค2 ข้อ33 หน้า13 บรรทัด14)
... พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ภารทวาชะ การกระทำ(อิทธิปาฏิหาริย์)
ของเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉน
เธอจึงได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์ แก่พวกคฤหัสถ์
เพราะเหตุแห่งบาตรไม้ (ทรัพย์) ซึ่งเป็นดุจซากศพเล่า
มาตุคาม(สตรี) แสดงของลับ เพราะเหตุแห่งทรัพย์ซึ่งเป็นดุจซากศพแม้ฉันใด
เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งเป็นธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์
แก่พวกคฤหัสถ์เพราะเหตุแห่งบาตรไม้ซึ่งเป็นดุจซากศพ
การกระทำของเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชน
ที่ยังไม่เลื่อมใส.."



วัดพระธรรมกายถ้ายังอยากจะเป็นชาวพุทธก็ต้องเคารพธรรมวินัย เมื่อผิดแล้วต้อง
ยอมรับผิด อนึ่ง การที่มีสมาชิกธรรมกายบางท่านอ้างว่าหลักฐานที่มีมาในพระไตรปิฎกอาจ
บิดเบือนไปนั้น น่าจะเป็นคำพูดของผู้ที่ต้องการจะหนีประเด็น เพราะเมื่อเราเป็นชาวพุทธนิกาย
เถรวาท เราก็ต้องยอมรับในพระไตรปิฎกว่าเป็นตำราของชาวพุทธ หากท่านต้องการจะคิดอะไร
ให้นอกเหนือไปจากพระไตรปิฎก ท่านก็ต้องสร้างตำราเป็นของตนเอง และตั้งชื่อศาสนาใหม่
ให้เป็นไปตามลัทธิความเชื่อของตนเอง ในกรณีนี้อาจจะตั้งชื่อว่า "ศาสนาพระธรรมกาย" ก็ได้
พอท่านประกาศศาสนาเป็นของตนเองแล้ว ถ้าท่านยังอยากจะยืนยันว่านิพพานเป็น
อัตตา หรือ ธรรมกายเป็นอัตตา หรือ จะแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้เป็นที่น่ามหัศจรรย์สักเพียงไร
ก็ไม่มีใครเขาว่า แต่อย่าไปตู่ว่าคำสอนนิพพานคืออัตตา หรือ การแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ เป็นคำสอน
หรือข้อปฏิบัติในพุทธศาสนา เพราะมันจะก่อให้เกิดผลเสียหายต่อพระพุทธศาสนาอย่างใหญ่หลวง
(ก่อให้เกิด "สัทธรรมปฏิรูป " หรือ สัทธรรมเลือนหาย)
อนึ่ง เมื่อท่านตั้งศาสนาเองแล้ว ท่านก็ควรจะต้องออกแบบเครื่องแต่งกายนักบวชให้เป็น
ของตนเอง ให้แตกต่างออกไปเครื่องแต่งกายพระภิกษุสงฆ์ในพุทธศาสนา โดยที่ระเบียบวินัย
จะเอาแบบอย่างจากพุทธศาสนาไปใช้บ้างก็ได้ไม่ว่า แต่ต้องประกาศให้ชัดว่าลัทธิความเชื่อของท่านนั้น
เป็น "ศาสนาธรรมกาย" ไม่ใช่ "พุทธศาสนา"
ประเด็นนี้จะต้องชัดเจน แล้วชาวพุทธจะนับถือชาวธรรมกาย ถือว่ามาร่วมกันสอน
ประชาชนให้เป็นคนดีด้วยกัน ชาวพุทธมีความเคารพในความเชื่อที่แตกต่างกัน แต่ชาวพุทธจะไม่เคารพ
คณะบุคคลใด ๆ ที่มาแอบอ้างตัวเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนานิกายเถรวาท แล้วมาตู่สอนลัทธินอกศาสนา
(นิพพานเป็น อัตตา หรือ ธรรมกายเป็นอัตตา ) ให้ประชาชนหลงเชื่อว่านี้คือคำสอนทางพุทธศาสนา
ซึ่งถือได้ว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการไม่ซื่อสัตย์ต่อพุทธศาสนา
เรื่องวัดพระธรรมกาย ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ในปัจจุบันเป็นปัญหาประเด็นใหญ่ที่ผู้รู้ชาว
พุทธควรจะตื่นตัวช่วยกันชี้แจงให้การศึกษาแก่ประชาชนได้เข้าใจ เพราะปัญหาธรรมกายเป็นปัญหาใน
ขั้นทิฐิ ซึ่งถ้าหากหลงทิศหลงทางกันแล้ว บางทีอาจจะพากันหลงไปทั้งสังคมทั้งประเทศชาติ หรือ
อาจถึงขั้นทำให้พุทธศาสนาสูญหายจากสังคมไทยก็เป็นได้ นับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงไม่น้อย

ผู้รู้ชาวพุทธทุกท่านหากถ้ามีความคิดในเชิงเหตุผลอันใดในประเด็น "อิทธิปาฏิหาริย์"
ขอเชิญมาแลกเปลี่ยนเสวนาความรู้ให้กันและกัน เพื่อให้เกิดความกระจ่างแจ้งแก่ประชาชนที่สนใจ
เพื่อเป็นการช่วยกันรักษาพระพุทธศาสนาให้คงความบริสุทธิ์ไว้เช่นเดิม
สำหรับในคราวนี้ผู้เขียนขอจบกระทู้เพียงเท่านี้ก่อน
สวัสดีครับ
ใหญ่



เพิ่มเติม :

1. ในกรณีเรื่องพระภิกษุสาคตเถระแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ตรงพระพักตร์พระพุทธองค์
แล้วทำให้ประชาชนแปดหมื่นพากันฮือฮาสนใจแต่พระภิกษุผู้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์
จนพากันมองข้ามพระศาสดาไปนั้น ที่แท้แล้วเป็นกุศโลบายของพุทธองค์ที่อนุญาตให้พระ
สาคตเถระแสดงปาฏิหาริย์ยิ่ง ๆ ขึ้นไป จนประชาชนมีความเลื่อมใสศรัทธาพระสาคตเถระ
เต็มที่แล้ว สุดท้ายพระสาคตเถระก็เหาะลงมาซบศีรษะลงที่พระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาค
แล้วกราบทูลต่อหน้าประชาชนทั้งหลายว่า พระผู้มีพระภาคเป็นพระศาสดาของข้าพระพุทธเจ้า
ข้าพระพุทธเจ้าเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ทำให้ประชาชนแปดหมื่นต่างรู้สึกทึ่งว่านี่ขนาด
สาวกยังมีฤทธิ์มากถึงเพียงนี้ พระศาสดาคงต้องอัศจรรย์กว่านี้เป็นแน่ จึงพากันน้อมใจ
ศรัทธาในพระพุทธองค์ ลำดับนั้นเมื่อพระพุทธองค์ทรงเห็นว่าประชาชนมีจิตน้อมรับฟังแล้ว
จึงแสดงธรรมตามลำดับให้ประชาชนแปดหมื่นได้สดับฟัง..จนเกิดดวงตาเห็นธรรมกันทุกคน
.( วินัย เล่ม5 มหาวรรค ภาค2 ข้อ1 หน้า2 )
เห็นได้ว่าเมื่อพระภิกษุสาคตเถระได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้พวกนอกศาสนา
ได้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสแล้ว ลำดับสุดท้ายการที่ท่านได้แสดงอาการนอบน้อมต่อพระผู้มี
พระภาคเจ้าด้วยการเหาะลงไปซบศีรษะลงที่พระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าต่อหน้า
ประชาชนนับหมื่นนั้น นอกจากจะเป็นการแสดงความเคารพสูงสุดต่อองค์พระศาสดาแล้ว
มองอีกนัยหนึ่ง ยังเป็นการแสดงสัญลักษณ์ให้เห็นว่าอิทธิปาฏิหาริย์หรือ ไสยศาสตร์ นั้นไม่ว่า
จะเก่งเลอเลิศขนาดไหน สุดท้ายก็ต้องมายอมสยบอยู่ใต้ "พุทธศาสตร์" หรือ "ปัญญา" อยู่นั่นเอง
อันเป็นการแสดงท่าทีของชาวพุทธที่มีต่ออิทธิปาฏิหาริย์ให้เห็นชัดเจนว่า ไม่คิดหวังพึ่งพา ไม่สนใจ
ไม่ตื่นเต้น ไม่ให้คุณค่า ไม่ยกย่อง ไม่สยบยอม แต่ชาวพุทธที่ฉลาดจะเคารพในคุณงามความดี
เคารพสติปัญญา เคารพธรรมะ พอใจในความสะอาด สว่าง สงบ เพราะทั้งหมดนี้คือสัญญลักษณ์
ของพระพุทธเจ้านั่นเอง
ถ้าหากท่านเข้าใจในสัญญลักษณ์ที่ยกขึ้นมาตีความเป็นนัยข้างต้น
ท่านจะตีความหมายอย่างไรกับภาพโฆษณาวัดพระธรรมกายในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับวันอังคาร
ที่ 13 ตุลาคม 2541 หน้า 20 ที่เป็นภาพรูปปั้นทองคำหลวงพ่อสดรูปขนาดใหญ่เกือบเต็มหน้า
กระดาษแสดงปาฏิหาริย์เป็นภาพลูกแก้วสีทองสาดแสงประกายอยู่กลางท้อง โดยที่ถัดลงไปจากฐาน
ที่นั่งหลวงพ่อสดนั้น มีภาพเหรียญสัญญลักษณ์รูปพระพุทธเจ้าขนาดเล็ก ๆ วางประดับไว้ด้านล่าง
(พูดอย่างเห็นภาพพจน์ คือเอารูปพระสงฆ์มานั่งทับอยู่เหนือรูปพระพุทธเจ้า ) ธรรมกายเป็นพุทธศาสตร์
หรือ ไสยศาสตร์ ? เราอาจจะตีความหมายได้จากภาพนี้ได้ไม่ยากเลย


(ไม่สงวนสิทธิ์การเผยแพร่)
จากคุณ : ใหญ่ - [30 ต.ค. 2541 11:15:15]