ภาวะผู้นำของชาวพุทธ

กับการสืบสานพระศาสนา

ปัจจุบัน สังคมไทยของเรานี้ มีสภาพจิตอย่างหนึ่งที่ได้สั่งสมมานานเป็นร้อยปี จนกลายเป็นสิ่งที่ฝังแน่นเข้าไปอยู่ในจิตไร้สำนึกเลยทีเดียว คือ ภาวะของความเป็นผู้ตาม สภาพจิตแบบผู้ตามนี้ กล่าวได้ว่า กำลังครอบงำจิตสำนึกของสังคมไทย จนกระทั่งมีพฤติกรรมของผู้ตามไปโดยไม่รู้ตัว

ประการที่หนึ่ง เรามองตะวันตกว่าเป็นสังคมที่เจริญ มีอะไรดีกว่าเรา แต่เวลาเรามองความเจริญ เรามักจะมองในความหมายแบบนักบริโภค ว่าเจริญอย่างฝรั่ง คือมีกินมีใช้อย่างฝรั่ง แทนที่จะมองแบบนักสร้างสรรค์ ว่าเจริญอย่างฝรั่ง คือทำได้อย่างฝรั่ง ขอให้พิจารณาดูว่าเป็นอย่างนี้จริงหรือไม่

วัฒนธรรมที่จะเจริญนั้น ต้องเป็นวัฒนธรรมของนักทำ หรือนักสร้างสรรค์ และสามารถสืบสานได้ นักสร้างสรรค์ ผู้จะมีความเจริญที่แท้ และพัฒนาตนขึ้นจากผู้ตามสู่ความเป็นผู้นำ จะมองความหมายของความเจริญว่า เจริญอย่างฝรั่ง คือทำได้อย่างฝรั่ง แต่เวลานี้คนของเราส่วนมากมองว่า เจริญอย่างฝรั่งคือ มีกินมีใช้อย่างฝรั่ง ถ้าอย่างนี้เราก็ต้องคอยรอผลิตภัณฑ์ รอสิ่งบริโภค รอเทคโนโลยีจากเมืองตะวันตก เราตั้งตามองตั้งหูฟังว่า ฝรั่งมีอะไร แล้วก็คอยดู คอยตาม เพื่อที่จะรับเอา ถ้าอย่างนี้ก็ต้องเป็นผู้รับและเป็นผู้ตามอยู่เรื่อยไป

ประการที่สอง เมื่อเป็นอย่างนี้นานเข้า เราก็จะมีนิสัยที่ฝังลงไปในสภาพจิต ในการที่จะคอยดูว่าในสังคมตะวันตก มีอะไรเกิดขึ้นใหม่ๆ บ้าง แม้แต่นักวิชาการก็จะมองว่า เวลานี้สังคมตะวันตกมีความคิดและการค้นคว้าทางวิชาการอะไรใหม่ๆ บ้าง เราคอยตามดู แล้วก็คอยรับ คอยดู คอยรับๆ อยู่เรื่อยๆ

พอเป็นผู้ดูผู้รับนานเข้า ก็เลยกลายเป็นผู้ตามไปโดยไม่รู้ตัว นานๆ เข้าสภาพจิตของผู้ตามนี้ก็กลายเป็นจิตนิสัยของสังคม ที่จะคอยดูว่าในสังคมตะวันตก มีอะไรเกิดขึ้นใหม่ๆ เป็นสิ่งที่จะกินใช้บริโภค และแม้แต่ความรู้และผลงานทางวิชาการ แล้วก็ตามไปรับเอามา และภูมิใจที่ได้รับสิ่งใหม่จากเขา จนกลายเป็นการแข่งกันในหมู่พวกเราเอง ว่าใครจะรับได้ไวกว่า แล้วก็มาภูมิใจที่ตามเขาได้ก่อนมาข่มทับกันเอง ในสังคมของตน แทนที่จะคิดว่าเราก็มีดีที่จะให้แก่เขาเหมือนกัน แทนที่จะคิดค้นสืบสวนและสืบสาวกันดูว่าเรามีอะไรดีบ้างในตัวของเรา ที่จะเอาไปแสดงออกเผื่อแผ่ให้คนอื่นเขายอมรับ และได้ประโยชน์บ้าง เรากลับไม่คิด เพราะเราติดนิสัยกลายเป็นสังคมที่มีสภาพจิตแบบผู้ตามไปแล้ว

ที่ว่านี้ มิใช่หมายความว่า จะไม่ให้ติดตามความก้าวหน้าเคลื่อนไหว และไม่ให้รับสิ่งใหม่จากตะวันตก ตรงข้าม วัฒนธรรมจะเจริญงอกงามได้ ก็ต้องทันต่อเหตุการณ์ โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางปัญญา สิ่งที่พิจารณาในที่นี้คือท่าทีต่อสิ่งใหม่นั้น ซึ่งหมายความว่า เราจะต้องตามให้ทันความรู้ความคิดที่นำหน้าที่สุดในโลก แต่การตามและการรับเอานั้น จะต้องดำเนินไปด้วยท่าทีแห่งความรู้เท่าทันของผู้มีดีของตนเอง ที่มองหาเอาสิ่งแปลกใหม่มาใช้ประโยชน์ ไม่ใช่ตามและรับด้วยท่าทีของผู้ที่รอการให้ของผู้อื่น หรือรอรับของแจก

เวลานี้จะต้องปลุกจิตสำนึกของคนไทยให้มีสภาพจิตแบบที่จะเป็นผู้นำบ้าง ไม่ใช่เป็นแต่ผู้ตามเรื่อยไป ในการที่จะเป็นผู้นำได้นั้น จะต้องเป็นผู้ให้ คือต้องมีอะไรที่ให้แก่เขา ถ้าเรามีอะไรที่จะให้แก่เขาแล้ว เราก็จะเป็นผู้นำไปเองโดยอัตโนมัติ เพราะผู้ให้จะไปไหน ผู้ที่จะรับเอาก็ต้องตามไป เพราะฉะนั้น ถ้าเรา มีอะไรที่จะให้ เราก็จะเป็นผู้นำไปเอง

ยิ่งต่อไปนี้ เมื่อได้รับความไว้วางใจจากชุมชนชาวพุทธทั่วโลก ให้เป็นปลักเป็นแกนของงานที่จะให้มีการศึกษาพระพุทธศาสนาระดับสากล ที่จะนำเอาธรรมมานำโลกสู่สันติสุข ก็เท่ากับจะต้องเป็นผู้นำ ฉะนั้น สังคมไทยจะต้องสร้างจิตสำนึกใหม่ คือสร้างจิตสำนึกแห่งความเป็นผู้นำ และเป็นผู้ให้ ไม่ใช่แค่คอยตามและรอรับเอา เรื่องนี้จะต้องพูดกันให้ชัด และคิดกันให้จริงจัง เป็นเรื่องสำคัญขั้นสุดยอด

ยอมรับหรือไม่ว่า เวลานี้สังคมไทยของเรา ได้มีสภาพจิตของความเป็นผู้ตามและเป็นผู้รับ จนกระทั่งไม่รู้ตัว เพราะได้แฝงฝังลงไปอยู่ในจิตไร้สำนึกแล้ว ถ้ายอมรับ ก็จะต้องปลุกกันให้ตื่นขึ้นมา คือต้องปลุกเร้าจิตสำนึกในความเป็นผู้นำและเป็นผู้ให้ โดยรำลึกตระหนักว่า การที่จะเป็นผู้นำได้ ก็ต้องเป็นผู้ให้ คือมีอะไรดีที่จะให้แก่เขา

ความคิดว่า เจริญอย่างฝรั่ง คือมีกินมีใช้อย่างฝรั่งนั้น เป็นความคิดที่ล้าหลังห่างไกล แม้แต่ความคิดว่าเจริญอย่างฝรั่งคือทำได้อย่างฝรั่ง ก็ยังไม่เพียงพอ ภารกิจของผู้นำโลกเวลานี้ ต้องถึงขั้นที่ว่ามีอะไรที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาที่ฝรั่งได้ทำไว้ และนำโลกไปสู่วิถีแห่งการพัฒนาอย่างใหม่ ซึ่งเป็นภารกิจของผู้นำ ซึ่งมีดีที่จะให้อย่างแท้จริง

การนำสิ่งดีที่เรามีขึ้นมาให้แก่เขา จะสำเร็จได้ก็ด้วยมีปัญหา คือมีปัญญาซึ่งหยั่งถึงสัจธรรมที่เป็นแก่นสาร และเป็นฐานของวัฒนธรรม และรู้คิดที่จะทำให้เกิดประโยชน์ เช่น ในการที่จะเอามาใช้แก้ปัญหาของโลกในยุคปัจจุบัน เป็นต้น อันนี้เป็นข้อพิจารณาและท้าทายที่สำคัญ ซึ่งถ้าทำให้เกิดขึ้นได้ วัฒนธรรมของเราก็จะเจริญงอกงามไปด้วยกันกับการทำงานให้แก่พระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์แก่มนุษยชาติทั้งโลก เราจะมัวคิดแต่ปกป้องวัฒนธรรมเก่า เป็นเพียงผู้ตั้งรับอยู่ไม่ได้ จะต้องมองให้กว้าง คิดให้ไกล และใฝ่ให้สูงถึงบรมธรรมและอุดมสันติสุขของทั้งโลก หวังว่า การประชุมทางวิชาการครั้งนี้ จะช่วยวางพื้นฐานและขยายวิสัยทัศน์ให้แก่การดำเนินงานในการอำนวยการศึกษาของมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งโลก โดยแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคนไทยและประเทศไทย ที่จะเป็นผู้นำทางปัญญา และเป็นผู้ให้ด้านการศึกษาทางพระพุทธศาสนาในระดับนานา-ชาติ เพื่อเปิดเผยขุมทรัพย์แห่งปัญญาของพระพุทธศาสนาให้พุทธธรรมออกมานำโลกสู่สันติสุขสืบไป สมกับความหวังและความตั้งใจของชาวโลกที่ฝากความไว้วางใจไว้กับพวกเราให้เป็นผู้นำในเรื่องนี้ n

หมายเหตุ : ทัศนะข้างต้นนี้คัดลอกมาจากสัมโมทนียกถา ของ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) เนื่องในการประชุมทางวิชาการเรื่อง 'ประเทศไทยกับมหา-วิทยาลัยพุทธศาสนาแห่งโลก' ระหว่างวันที่ 13-14 มีนาคม 2542 ณ ห้องประชุมองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก




Last modified: วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2542