"อยากให้นำ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2484 กลับมาใช้อีก"

พระมหาบุญถึง ชุตินธโร

ระมหาบุญถึง ชุตินธโร ผู้ช่วยอธิการบดีมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย กล่าวว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 ที่ใช้ในปัจจุบันเป็น 'ฉบับเผด็จการ' ในวงการคณะสงฆ์ ตั้งแต่ใช้มาจนถึงปัจจุบัน มีการปรับปรุงเพียงครั้งเดียว คือ พ.ศ.2535 โดยเพิ่มกฎนิคห กรรม คือการลงโทษพระภิกษุที่ละเมิดพระธรรมวินัย

ปัญหาคือ พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบัน ไม่ทันสมัย เป็นการรวมอำนาจไว้ส่วนกลาง คือมหาเถรสมาคมซึ่งมีกรรมการ 21 รูป เพราะฉะนั้น การทำงานการแก้ไขปัญหา จึงชักช้าไม่ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน กระทั่งมีปัญหาเกิดขึ้น จึงแก้ไขไม่ได้เลย

"ถ้าจะถามว่าควรจะปรับปรุงอย่างไร อาตมาภาพคิดว่า ควรต้องปรับทั้งหมด ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ยกเลิก และนำ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับ 2484 มาใช้ เพราะฉบับนั้นเป็นประชาธิปไตย มีการแบ่งแยกอำนาจความรับผิดชอบออกจากกัน"

พ.ร.บ.การปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ได้ชื่อว่าเป็นฉบับที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่สุด ตั้งแต่มี พ.ร.บ.สงฆ์ออกมา เนื่องจากบรรยากาศในขณะนั้นอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเริ่มต้นจากการเคลื่อนไหวของคณะภิกษุหนุ่มมหานิกายจากวัดต่างๆ ในปี 2477 เรียกคณะผู้ก่อการนี้ว่า 'คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา'

จุดมุ่งหมายสำคัญของคณะภิกษุหนุ่มกลุ่มนี้มี 3 ประการ คือ 1) ขอให้แก้ไขและปรับปรุง พ.ร.บ.คณะสงฆ์เสียใหม่ เพื่อให้พระสงฆ์ทั้งธรรมยุตและมหานิกาย ได้มีการบริหารโดยเสมอภาคกัน 2) พ.ร.บ.การปกครองคณะสงฆ์ ต้องทรงไว้ซึ่งความเสมอภาค ปราศจากอภิสิทธิ์แห่งนิกายใด หรือแม้แต่แห่งเอกชนและทุกรูป 3) ขอให้คณะสงฆ์สยามมีส่วนร่วมสังฆกรรมด้วยกันได้

การเคลื่อนไหวของคณะภิกษุกลุ่มดังกล่าว ท้ายที่สุด ได้ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.การปกครองสงฆ์ได้สำเร็จ มีการตรา พ.ร.บ.การปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงประเพณีการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช จากพระในธรรมยุตินิกาย มาเป็นพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิและวัยวุฒิ โดยไม่สังกัดนิกายใด และรัฐบาลวางนโยบายรวมนิกายไว้

ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้ยุบเลิกมหาเถรสมาคม และแบ่งแยกอำนาจการปกครองออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ สังฆสภา สังฆมนตรี และคณะวินัยธร เพื่อถ่วงดุลอำนาจการบริหารคณะสงฆ์เช่นเดียวกับการปกครองอาณาจักรฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ เป็นการจำกัดอำนาจสมเด็จพระสังฆราช ด้านการบริหาร ให้มีอำนาจแต่เพียงในนามตามบทมาตราแห่ง พ.ร.บ. และมีเป้าหมายสูงสุด คือการรวมนิกายสงฆ์ให้เป็นหนึ่งเดียว

ในขณะที่พระสงฆ์มหานิกาย เห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ดีที่สุด พระสงฆ์นิกาย ธรรมยุตในเวลานั้นกลับถือว่าการมี พ.ร.บ.สงฆ์ 2484 เป็นสัญลักษณ์แห่งความพ่ายแพ้ของธรรมยุตินิกาย จึงหาช่องทางล้ม พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยคณะธรรมยุตอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายตีความว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญอันให้สิทธิเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนา หรือนิกายใดๆ ก็ได้ การมีสังฆสภาทำลายรูปแบบอันสงบ สันโดษ น่าเคารพของพระสงฆ์ เพราะพระสงฆ์มีการอภิปรายโต้แย้ง ผิดต่อหลักพระธรรมวินัย

รวมทั้งการที่กำหนดให้สมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุขแต่เพียงในนาม เช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็ผิดต่อรูปแบบการปกครองสงฆ์สมัยพุทธ-กาลที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขในการตัดสินปัญหาข้อวิวาท หรือตราพระสังฆาณัติ

พ.ร.บ.การปกครองคณะสงฆ์ 2484 ถูกยกเลิกไปในปี 2505 และมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แทน ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้ในช่วงเวลาที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจรวมศูนย์ การปกครองคณะสงฆ์รัฐบาลสมัยนั้น จึงเห็นว่ามิใช่กิจการที่พึงแบ่งแยกกัน พ.ร.บ.การปกครอง 2505 จึงรวมศูนย์อำนาจของสงฆ์ให้กลับมาที่สมเด็จพระสังฆราชและมหาเถรสมาคม

นั่นคือประเด็นปัญหาที่พระสงฆ์รุ่นใหม่ ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง!

กล่าวได้ว่าปัญหาต่างๆ ได้สั่งสมมาเป็นเวลายาวนาน เมื่อเกิดปัญหาใหญ่ๆ ในวงการพุทธศาสนาแต่ละครั้ง ก็ไม่พ้นที่มหาเถรสมาคมจะเป็นผู้วินิจฉัย ตามโครงสร้างอำนาจหน้าที่ที่เป็นอยู่

แต่ปัญหาที่ประสบในปัจจุบันคือ กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นพระสงฆ์ที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ทำให้ขาดความคล่องตัวในการบริหารงาน แม้ว่าจะมีการแต่งตั้งใหม่ทุก 2 ปี แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกรรมการหน้าเดิม โดยพระสงฆ์ที่เป็นราชาคณะ จะเป็นมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง ส่วนพระชั้นรองสมเด็จฯ หรือพระราชาคณะชั้นธรรม จะได้รับการแต่งตั้งโดยสมเด็จพระสังฆราช ทั้งนี้ โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการชุดเดิม รวมทั้งโครงสร้างของมหาเถรสมาคมที่มีอำนาจรวมศูนย์ เรื่องจึงมากระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง และอยู่ในดุลพินิจของคณะสงฆ์จำนวนหนึ่ง

ผู้รู้ในวงการสงฆ์ท่านหนึ่งได้เคยวิพากษ์ไว้ว่า เป็นข้อบกพร่องของการปกครองคณะสงฆ์ที่ขึ้นกับพระเถระชั้นผู้ใหญ่ไม่กี่รูป เป็นการยึดติดจารีตในสมัยพุทธกาล อันไม่เหมาะสมแก่กาลสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป พระเถระเหล่านั้นก็ล้วนชราภาพ พระสงฆ์ผู้มีความสามารถหวังจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาก็เกิดท้อถอย เพราะเจอระบบอุปถัมภ์หรือระบบบริหารที่มีลักษณะเผด็จการ ซึ่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 เอื้ออำนวยให้พระเถระผู้ใหญ่ใช้อำนาจรวมศูนย์ได้อย่างเต็มที่

หากจะเปิดช่องทางให้พระสงฆ์รุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาแก้ไข ความเหลวแหลกในวงการสงฆ์ไทย ก็ต้องยกเลิก พ.ร.บ.สงฆ์ 2505 และร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตย ดังเช่น พ.ร.บ.สงฆ์ 2484

นอกจากนี้ ในมหาเถรสมาคม ก็ยังมีอยู่สองฝ่าย คือ มหานิกาย และธรรมยุติ-นิกาย ซึ่งมีการแบ่งฝ่ายกันอยู่ในที อย่างไรก็ตาม หากยึดตาม พ.ร.บ.สงฆ์ฉบับปัจจุบัน พระอักษรของสมเด็จพระสังฆราช ก็ถือว่ามีผลให้มหาเถรสมาคม ต้องปฏิบัติตาม ดังที่พระมหาบุญถึงอธิบายว่า ถ้าเป็นเรื่องความเป็นความตายของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ใน พ.ร.บ.นี้ สมเด็จพระสังฆราช ท่านมีพระราชอำนาจตามมาตรา 8 ที่ให้อำนาจพระองค์ท่านไว้

"ถ้ามหาเถรสมาคมให้ความเคารพพระองค์ ก็ไม่จำเป็นต้องผ่านมติของมหาเถรสมาคมอีก เพราะพระองค์มีพระบัญชาๆ พระอักษรถือว่ามีผลให้ปฏิบัติได้เลย แต่ถ้าทางมหาเถรสมาคมต้องรอให้ผ่านมติ ก็ชักช้า คือถ้ามหาเถรสมาคมเห็นแก่พระพุทธศาสนา มากกว่าลาภสักการะ ก็คงผ่าน ซึ่งในการพิจารณานี้ใช้เสียงข้างมาก"




Last modified: วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2542