เสียงสะท้อนจาก 'ยุวสงฆ์'

มหาเถรสมาคม : ในคลื่นลมวิกฤติศรัทธา

เป็นเวลานานกว่า 7 เดือน ที่คณะสงฆ์และฆราวาส ผู้เลื่อมใสศรัทธาในพระศาสนา ได้ออกมาเคลื่อนไหวเปิดโปงพฤติกรรมของวัดพระธรรมกาย ด้วยรูปแบบต่างๆ ซึ่งในนั้นก็มี 'คณะสงฆ์หนุ่ม' หรือ 'ยุวสงฆ์' รวมอยู่ด้วย

ย้อนไปเมื่ออดีตยามใดที่เกิดปัญหาในวงการสงฆ์ คณะสงฆ์หนุ่มก็จะออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับฆราวาส ดั่งเช่น 'คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา' ที่ผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.การปกครองคณะสงฆ์ 2484 ที่มีรูปแบบการปกครองสงฆ์ที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด

แต่ พ.ร.บ.การปกครองคณะสงฆ์ 2505 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีการตราออกมาใช้ในสมัยเผด็จการครองเมือง ฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่าปัญหาของวงการพระศาสนา ก็คือปัญหาการปกครองคณะสงฆ์ ภายใต้กฎหมายที่ล้าหลังและไม่เป็นประชาธิปไตย

'ธรรมธารี' เป็นนามปากกาของพระภิกษุรูปหนึ่ง ที่ลุกขึ้นมาเขียนบทความขนาดยาวชิ้นนี้ ด้วยมุมมองแบบคนรุ่นใหม่ ซึ่งมองปัญหามหาเถรสมาคมอย่างเป็นระบบและเสนอทางออกไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง

1.กรณีธรรมกาย : ไฟสุมขอนที่รอวันปะทุ

ญหาวัดพระธรรมกาย ซึ่งต่อมาเรียกกันตามเอกสารเพื่อพระธรรมวินัยของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) ว่า 'กรณีธรรมกาย' มิใช่ปัญหาใหม่ในวงการพระพุทธศาสนาในประเทศไทย หากติดตามประวัติความเป็นมาของการก่อตั้งวัดพระธรรมกายมาแต่แรกเริ่มจะพบว่าอาการ 'ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปเป็นบ้องกันชา' นั้น มีเค้าเงื่อนให้เห็นมาแต่แรกเริ่มแล้ว นั่นคือ นับแต่ปี พ.ศ.2520 วัดพระธรรมกายได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นวัดได้โดยสมบูรณ์ และคณะกรรมการวัดได้พยายามขยายพื้นที่วัดให้กว้างขวางออกไปเรื่อยๆ โดยมีการกว้านซื้อที่ดินที่มีอาณาบริเวณติดกับที่วัดแต่เดิมให้ขยายออกไปอีกกว่า 2,000 ไร่ ในการกว้านซื้อที่ดินเพื่อขยายอาณาเขตนี้ มีโศกนาฏกรรมซึ่งไม่น่าเกิดขึ้นจนดังเป็นข่าวรับรู้กันไปทั่วทั้งประเทศก็คือ การที่ 'คนของวัดพระธรรมกาย' มีกรณีพิพาทกับกลุ่มชาวบ้านบริเวณข้างวัด ซึ่งไม่พอใจกับพฤติการณ์ของคณะกรรมการวัด ที่พยายามขยายอาณาเขตของวัดด้วยการใช้ทั้ง 'เงิน' และ 'อิทธิพล' เข้าข่มขู่เจ้าของที่ จนในที่สุดถึงกับมีการใช้ความรุนแรงถึงขั้นเลือดตกยางออกทั้งสองฝ่าย

เมื่อข่าวนี้หายไปเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง ชาววัดพระธรรมกายก็พยายามรุกคืบต่อไปอย่างแยบยล และเป็นพลวัตร ในการรุกคืบเพื่อสร้างมหาอาณาจักรทางธรรมนี้ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่แสดงความไม่ชอบมาพากล และทำท่าว่าจะเดินสวนทางพระธรรมวินัยมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีเสียงทักท้วงจากผู้รู้ นักวิชาการ นักการเมือง และปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาอยู่เนืองๆ เสียงทักท้วงนี้มีทั้งที่เป็นทัศนวิจารณ์และทั้งที่เป็นเอกสารหลักฐานมากมาย หนึ่งในนั้นเป็นเสียงก้องจาก ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ซึ่งเป็นนักคิดคนสำคัญของไทย ได้วิพากษ์วัดพระธรรมกายและพยากรณ์ล่วงหน้าไว้ ดังนี้

"พูดถึง 'ธรรมกาย' ในส่วนที่เป็นองค์กรจัดตั้งนั้น ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ข้อดี คือ มีพลังรุกได้รวดเร็ว

ข้อเสีย คือ (1) ต้องใช้เงินมาก (2) หลักธรรมแคบ (3) มีอำนาจซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้ง และคอรัปชั่นในอนาคต ดังนี้

ก.การที่เป็นองค์กรใหญ่ทำให้ต้องใช้เงินมาก จึงมีลักษณะ 'หาเงิน' สูง การที่ต้องการเงินมากจะทำให้ต้องประนีประนอมในหลักธรรมและเข้าไปสู่การค้า เช่น อาจต้องคบคนที่ไม่ค่อยมีธรรมะเท่าใด เพราะต้องการเงินจากเขาหรืออำนาจซึ่งเอามาแปรเป็นเงิน

ข.การที่เป็นองค์กรจัดตั้งที่ต้องการรวมกลุ่มสูง ทำให้ต้องเสนออุดมการณ์โดดเดี่ยว เพื่อเป็นหลักยึดในการรวมกลุ่มไว้ ให้รู้ความหลากหลายของธรรมะไม่ได้เพราะจะรวมกลุ่มไม่ติด...

ค.เมื่อเป็นองค์กรจัดตั้งใหญ่ที่มีอำนาจทั้งทางกำลังคนและกำลังเงิน ซึ่งถือเป็นความสำเร็จ แต่ในความสำเร็จต้องระวังความล้มเหลวเสมอ ความล้มเหลวจะเกิดจากความใหญ่ และเกิดจากอำนาจนั้นเอง ไม่ว่าอะไรก็ตาม ถ้าใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จะมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นลูกโป่ง ไดโนเสาร์ กองทัพ เครื่องบิน แนวรบ เพราะจะเกิดความขัดแย้งทั้งภายในและภายนอก คุมองคาพยพไว้ไม่ได้ ต้องแตกสลายไปหรือคงอยู่ไม่ได้...ถ้าธรรมกายจะชูธง 'ธรรมกาย' ไม่ชูธงพุทธเป็นส่วนรวมและเอาเฉพาะหมู่พวกของตน ย่อมต้องเกิดความขัดแย้งกับชาวพุทธที่มีความหลากหลายดังที่ชักจะเริ่มพูดอะไรต่ออะไรกันขึ้นแล้ว..."

13 ปีให้หลังการวิพากษ์กึ่งพยากรณ์ของศาสตรา-จารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ราวปลายปี 2541 กรณีธรรมกายก็ปะทุ และลุกลามเป็นปัญหาสังคมอย่างรวดเร็ว จากความใหญ่โตขององค์กร และการจัดระบบอย่างดีเลิศชนิดนักบริหาร นักการตลาดสมัยใหม่ยอมยกนิ้วให้ ทำให้กรณีธรรมกายกลายเป็น 'น้ำผึ้งหยดเดียว' ที่ปลุกเอาสังคมไทยทั้งระบบให้ฟื้นตื่นขึ้นมาตรวจสอบ ไม่เฉพาะแต่วัดพระธรรมกายเท่านั้น หากเป็นการตรวจสอบ

(1) หลักพระธรรมวิจัยอันเป็นรากเหง้าของพระพุทธศาสนา คือหลัก 'นิพพานอัตตา-อนัตตา'

(2) สถาบันสงฆ์และวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ทั่วทั้งสังฆมณฑล

(3) มหาเถรสมาคม อันเป็นองค์กรปกครองสงฆ์สูงสุด

(4) จิตวิญญาณชาวพุทธในฐานะ 'เจ้าของพระพุทธศาสนา' ซึ่งคนไทยกว่า 95% ล้วนเป็นหุ้นส่วนพุทธบริษัท

(5) นักวิชาการ นักคิด นักการเมือง องค์กรพุทธ รัฐะ (ผ่าน รมต.ศึกษาฯ กรมการศาสนา)

(6) มหาวิทยาลัยสงฆ์ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาชั้นสูง ซึ่งควรมีบทบาทโดยตรงในการสร้างความเข้าใจ ชี้แจง และออกนำหน้าในการหาทางออกต่อกรณีนี้

(7) สื่อมวลชน ในฐานะผู้นำเสนอความจริงอย่างมั่นใน 'อาชีวปฏิญาณ' หรือเพียงผู้รอรับ 'ใบสั่ง' จากใครก็ได้ที่มีซองขาว

การตรวจสอบดังกล่าวนี้ดำเนินไปอย่างเข้มข้น ยาวนาน แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่อาจหาข้อยุติได้ ทั้งๆ ที่หลายฝ่ายต่างพยายามอย่างเต็มที่และถึงที่สุดแล้วในการทำให้ความจริงปรากฏอย่างชนิด Clean and clear ถ้ากรณีธรรมกายไม่มีระบบการจัดตั้งที่เข้มแข็ง ไม่มีผู้นำที่เป็นปัญญาชน ไม่มีเงินทุนมหาศาล และไม่มีศาสนิกเรือนแสน ทุกอย่างคงจบไปแล้วภายในเวลาไม่เกินไตรมาสแรก นับแต่เหตุการณ์ปะทุขึ้นมา แต่เผอิญว่ากรณีธรรมกายนี้เป็น 'รัฐน้อย' ที่ซ้อนอยู่ใน 'รัฐใหญ่' (หรือบางทีอาจเป็นรัฐอิสระในประเทศไทยด้วยซ้ำไป) ของรัฐบาลสงฆ์ (หรือมหาเถรสมาคม) การตรวจสอบและวินิจฉัย อรรถคดีที่ 'ด้อยประสิทธิภาพ' ของมหาเถรสมาคม จึงกลายเป็นปลายหอกที่หันเข้าใส่ยอดอกของมหาเถรสมาคมเองในที่สุด

และทั้งหมดนี้คือสาเหตุที่ทำให้พุทธบริษัทและสังคมไทยทั้งระบบ ต่างหันกลับมาจับตามององค์กรสงฆ์อันได้ชื่อว่า 'มหาเถรสมาคม' อย่างจดจ่อและจริงจังอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่เคยมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในรอบทศวรรษ (2530-2540) ที่ผ่านมา

2. มหาเถรสมาคม : พัฒนาการ กรรมการ

และอำนาจ

2.1 พัฒนาการ

การปกครองคณะสงฆ์ไทยในรูปของ 'มหาเถรสมาคม' เพิ่งจะเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ด้วยเหตุผลในการปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้บ้านเมืองทันสมัยสามารถรับมือได้กับจักรวรรดินิยมตะวันตกในสมัยนั้น หลักฐานที่ชัดเจนในเรื่องนี้ก็คือการตรา 'พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121' (พ.ศ.2445) และนับจากนั้นมา การปกครองคณะสงฆ์ไทย ภายใต้องค์กรปกครองสงฆ์สูงสุด คือ 'มหาเถรสมาคม' ก็มีวิวัฒนาการมาโดยลำดับจนถึงปัจจุบัน

แนวทางการบริหาร จัดการ คณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน ดำเนินไปภายใต้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับ พ.ศ.2505 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับ พ.ศ.2505 (แก้ไข) พ.ศ.2535

2.2 กรรมการ

องค์กรมหาเถรสมาคมในปัจจุบัน ประกอบด้วย

(1) สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง

(2) สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

(3) พระราชาคณะซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งมีจำนวนไม่เกินสิบสองรูปเป็นกรรมการ (และ)

(4) อธิบดีกรมการศาสนาเป็นเลขาธิการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และกรมการศาสนาเป็นสำนักงานเลขาธิการมหาเถรสมาคม

2.3 อำนาจ

2.3.1 สมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จพระสังฆราชทรงมีอำนาจ 2 ทางด้วยกัน คือ

ก.ในฐานะทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระ สังฆราช โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม

ข.ในฐานะทางดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมหา-เถรสมาคม

จาก 2 ข้อนี้จะเห็นว่าการที่สมเด็จพระสังฆราชทรงมีพระอักษรออกมาถึง 5 ฉบับ) นับรวม 2 ฉบับแรก ที่ไม่ปรากฏทางสื่อสารมวลชนด้วย) นั้น แสดงว่าพระองค์ทรงมีพระอำนาจที่จะทำเช่นนั้นได้อย่างชอบธรรม และเมื่อว่ากันอย่างที่มุ่งจะรักษาพระธรรมวินัยเป็นหลักแล้ว เพียงพระอักษรที่เผยแผ่ทางสื่อสารมวลชน ฉบับที่ลงวันที่ 26 เมษายน 2542 และฉบับที่ลงวันที่ 30 เมษายน 2542 รวมทั้งฉบับล่าสุด (ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2542) ที่ทรงระบุชัดลงไปว่าผู้ที่ทรงกล่าวถึงในพระอักษรนั้น มุ่งเอา 'วัดพระธรรมกาย' อย่างเป็นด้านหลักด้วยแล้ว ก็นับได้ว่าเพียงพอแล้วสำหรับที่จะยึดเป็นแนวทางในการจัดการยุติปัญหากรณีธรรมกาย (แต่ที่ยืดเยื้อออกไปนั้นจะเป็นด้วยเหตุใด เชื่อว่าถึงเวลานี้วิญญูชนย่อมกระจ่างชัดในเหตุผลเป็นอย่างดี)

2.3.2 อำนาจของมหาเถรสมาคม

เมื่อว่าถึงอำนาจของมหาเถรสมาคม พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับปัจจุบันกำหนดขอบเขตไว้ตามมาตรา 15 ตรี ดังต่อไปนี้

(1) ปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงาม

(2) ปกครองและกำหนดการบรรพชาสามเณร

(3) ควบคุมและส่งเสริมการศาสนาศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ และการสาธารณ-สงเคราะห์ของคณะสงฆ์

(4) รักษาหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนา

(5) ปฏิบัติที่อื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่น...

3.จุดเด่น จุดด้อย และเสียงสะท้อนจากสังคมไทยต่อมหาเถรสมาคม

องค์กรมหาเถรสมาคม ประกอบด้วยพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งมากด้วยพรรษายุกาล วัยวุฒิ คุณวุฒิ และปัญญาวุฒิ ถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์ผ่านมามากทั้งทางคดีโลก คดีธรรม ความเป็น 'พระมหาเถระ' มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี คือมีประสบการณ์มากทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับโลกและเรื่องที่เกี่ยวกับธรรม ข้อดี ตรงนี้ส่งผลให้เป็นองค์กรที่มีความรอบคอบสูง มีวิจารณญาณเฉียบคม ไม่หลงกระแส (แต่อาจตกกระแส?) และใจเย็นยามเผชิญอธิกรณ์ (คดีความ) ต่างๆ การปกครองที่อนุ-วัตรตามฝ่ายบ้านเมืองของมหาเถรส มาคม ทำให้มีเอกภาพทางการปกครองสูง สามารถสั่งการคณะสงฆ์ทั้งประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว (ในยามปกติ) จุดเด่นเรื่องเอกภาพในการปกครองนี้ ได้รับการยอมรับทั่วไปว่าคณะสงฆ์ไทยทำได้อย่างดีเยี่ยม

แม้ในงานเขียนเรื่อง The Buddhism in the Buddhist World พระราชวรมุนี (สมณศักดิ์ในขณะนั้นของพระธรรมปิฎก ป.อ.ปยุตโต) ก็ตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ว่า

"อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในส่วนดี (จะพบว่า) คณะสงฆ์ไทยแม้จะมีจุดอ่อนและข้อด้อยมากมาย ก็ถือว่ามีการจัดองค์กรที่ดีเมื่อเทียบกับสถาบันสงฆ์ในประเทศอื่น วัดจำนวนหมื่นและพระภิกษุไม่น้อยกว่า 250,000 รูป รวมตัวเป็นเอกภาพภายใต้คณะผู้บริหารเดียวกัน ด้วยการจัดองค์กรสงฆ์ระดับชาติเช่นนี้ คณะสงฆ์ไทยจึงได้รับการยอมรับและอุปถัมภ์เต็มที่จากทางบ้านเมือง มีเอกภาพในการบริหารกิจการคณะสงฆ์ และการปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ เช่น การศึกษา ศาสนพิธี และการรักษาศีล ภายใต้ระบบการปกครองที่แบ่งระดับชั้นในรูปพีรามิดชนิดรวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลางนี้ กิจการคณะสงฆ์สามารถได้รับการตรวจสอบอย่างใกล้ชิด ทั้งสามารถรักษาวินัยของสงฆ์ได้เป็นอย่างดี การถ่ายทอดคำสั่งอย่างฉับพลันและการส่งข่าวสารอย่างรวดเร็วระหว่างวัดในชนบทห่างไกล กับคณะผู้บริหารระดับสูงสุดในกรุงเทพมหานคร ก็เป็นเรื่องที่อาจทำได้ ความร่วมมือร่วมใจระหว่างคณะสงฆ์กับฝ่ายบ้านเมืองมีอยู่อย่างแน่นแฟ้น

ทั้งนี้ เพราะคณะสงฆ์มีการจัดองค์กร และระดับชั้นผู้ปกครองคู่ขนานกับระบบราชการ ในสถานการณ์เช่นนี้ พระสงฆ์สามารถแสดงบทบาทสำคัญมากมายในการสร้างความสามัคคีในหมู่ประชาชน และความมั่นคงของชาติ..."

แต่ในจุดเด่น หรือจุดแข็งของมหาเถรสมาคมดังกล่าวมานี้ ก็มีจุดด้อยแทรกอยู่ในนั้นด้วย เมื่อสังคมเปลี่ยนไป โลกเคลื่อนไหวไปอย่างรวดเร็วและซับซ้อน กระทั่งเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ จุดแข็งขององค์กร สงฆ์ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นจุดแข็งอีกต่อไป เมื่อมีปัญหามากมายเกิดขึ้น ท้าทายศักยภาพทางการปกครองของคณะสงฆ์อยู่เนืองๆ และนับวันคดีความก็ มักจะยุ่งยาก ซับซ้อน และเชื่อมโยงกับองคาพยพส่วนอื่นๆ ในสังคมมากยิ่งขึ้น ความเป็นพระมหาเถระของกรรมการมหาเถรสมาคมกลายเป็นจุดอ่อนขึ้นมาทันทีเมื่อพบกับอธิการณ์ที่มีความซับซ้อน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ 'อลัชชี' เป็นบุคคลประเภท 'ลื่นเหมือนปลาไหล' และมีการ 'จัดตั้ง-วางระบบ' มาอย่างดีในระดับหนึ่งใน ภาวการณ์เช่นนี้ จุดแข็งก็แปรเป็นจุดอ่อนไปโดยพลัน

(1) ความเป็นพระมหาเถระ กลายเป็นชนวนแห่งข้อกล่าวหาว่า 'ไม่ทันโลก'

(2) ความรอบคอบ กลายเป็นชนวนแห่งข้อกล่าวหาว่า 'ชักช้า' บ้าง 'โยนกลอง' บ้าง

(3) ความเมตตา และความสุขุมคัมภีรภาพกลายเป็นชนวนแห่งข้อกล่าวหาว่า 'เห็นแก่คนมากกว่าเห็นแก่พระธรรมวินัย'

(4) ความมีอำนาจมาก กลายเป็นชนวนแห่งข้อกล่าวหาว่า 'ใช้อำนาจเพื่อช่วยพวกพ้อง'

(5) ความที่เป็นองค์กรสูงสุดมากด้วยอำนาจและบารมี แต่มีวิธีพิจารณาอธิกรณ์ต่างๆ อย่างชนิดเน้นเมตตาเป็นหลัก (ความจริงอาจเป็นเพราะท่านต้องการความรอบคอบมากกว่า) ทำให้การวินิจฉัยอธิกรณ์ต่างๆ ล่าช้า จึงเป็นที่มาแห่งข้อกล่าวหาว่าเป็น 'เสือกระดาษ'

(6) และล่าสุดอันนับได้ว่าเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงและมากด้วยอารมณ์ทางสังคมเป็นอย่างยิ่ง ในกรณีธรรมกายก็คือข้อกล่าวหาที่ว่า 'ธุระไม่ใช่' และ 'อุ้มอลัชชี' และหรือ 'อามิสทายาท'

จุดเด่น จุดด้อย และเสียงสะท้อนเหล่านี้ล้วนยืนอยู่บนรากฐานที่สามารถตรวจสอบ วัด และประเมินได้อย่างแน่นอน และเป็นความจริงทีเดียวที่พุทธบริษัทในฐานะเจ้าของพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับพระมหาเถระในมหาเถรสมาคมย่อมมีสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะแสดง 'ประชามติ' ต่อองค์กรมหาเถรสมาคมในฐานะองค์กรที่รับผิดชอบโดยตรงในการบริหารการพระศาสนา เสียงสะท้อนเหล่านี้ ดำรงอยู่ และขยายพรมแดนกว้างขวางเป็นอย่างยิ่งและอย่างเป็นพลวัตรด้วยอำนาจของสื่อในยุค 'โลกไร้พรมแดน' มหาเถรสมาคม จึงไม่อาจนิ่งดูดายกับเสียงก้องเหล่านี้ เพราะหากมหาเถรสมาคมไม่ยอมฟัง 'เสียงจากผู้อื่น' (ปรโตโฆสะ) ซึ่งมากด้วยความรัก ความปรารถนาดีต่อองค์กรและต่อพระพุทธศาสนาแล้ว

ในระยะยาว เสียงสะท้อนเหล่านี้เองจะเป็นเหตุปัจจัยอย่างสำคัญในการผลักดันให้มหาเถรสมาคมต้องมีการปรับตัวอย่างขนานใหญ่แน่นอน เพราะไม่เช่นนั้นสถาบันพระพุทธศาสนาในเงื้อมมือมหาเถรสมาคมอาจจะถึงกาลละ 'ล่มสลาย' ก่อนเวลาอันควร

4. มหาเถรสมาคม : การปรับองค์กรเพื่อเกื้อกูลต่องานรักษาและเผยแพร่พระธรรมวินัย

จากการศึกษาบทบาทของมหาเถรสมาคมทั้งในอดีต ปัจจุบัน และท่ามกลางภาวะวิกฤติศรัทธาครั้งแล้วครั้งเล่ามีผู้พยายามชี้จุดอ่อน จุดแข็ง และทิศทางที่ควรจะเป็นของมหาเถร-สมาคมไว้มากมาย แต่ทัศนวิจารณ์เหล่านั้นก็ยังคงเงียบหายเป็นคลื่นกระทบฝั่งอยู่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

การที่มีผู้ออกมาแสดงความเห็นห่วงองค์กรปกครองคณะสงฆ์สูงสุดอย่างมหาเถรสมาคมอย่างมากมาย และต่อเนื่องเช่นนี้ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าองค์กรมหาเถรสมาคม 'มีปัญหา' ทั้งปัญหาในระดับโครงสร้าง ปัญหาระดับตัวบุคคล และปัญหาในระดับปฏิบัติการดำรงอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย

ต่อกรณีธรรมกายปัญหาที่เห็นชัดและโดดเด่นเป็นอย่างยิ่งก็คือมหาเถรสมาคม ไม่สามารถที่จะวินิจฉัยอธิกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงมหาเถร-สมาคมมีศักยภาพที่จะทำได้เป็นอย่างดี มีทั้งประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและรวดเร็ว ถูกต้องดีงาม แม้เมื่อพลิกดูพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ฉบับแก้ไข พ.ศ.2535 ก็พบ 'ทางสว่าง' ที่มหาเถรสมาคมสามารถนำมาปรับใช้ในการวินิจฉัยอธิกรณ์ได้อย่างเต็มที่เช่นกัน ดังมาตรา 19 ระบุ ไว้ว่า

"สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ ตามมติมหาเถรสมาคมประกอบด้วยพระภิกษุ หรือบุคคลอื่นจำนวนหนึ่ง มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเรื่องที่จะเสนอต่อมหาเถรสมาคมและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่มหาเถรสมาคมมอบหมาย โดยขึ้นตรงต่อมหาเถรสมาคม..."

จากมาตรการนี้ มหาเถรสมาคมสามารถที่จะตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ขึ้นมาพิจารณากลั่นกรองคดีความ (อธิกรณ์) ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเลือกสรรผู้ทรง คุณวุฒิจากสาขาต่างๆ มาทำงานให้กับมหาเถรสมาคมอย่างได้ผล แต่เท่าที่ผ่านมา มหาเถรสมาคมยังไม่ค่อยใช้มาตรานี้ให้เป็นคุณแก่การพระศาสนาเท่าไหร่นัก แม้ผู้เชี่ยวชาญพระธรรมวินัยอย่าง พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) เองก็ตาม พระคุณท่านก็ทำงานรักษาพระธรรมวินัยในฐานะพระสงฆ์ไทยรูปหนึ่งเท่านั้น ทั้งๆ ที่มีช่องทางใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์เปิดไว้ให้และมีแนวปฏิบัติในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาเป็นบทเรียนไว้มากมาย มหา-เถรสมาคมก็กลับไม่พิจารณาพระคุณท่าน (หรือพระสงฆ์รูปอื่นที่มีศักยภาพด้านนี้) เพื่อทำงานในกรณีธรรมกายโดยเฉพาะ (ตรงกันข้าม กลับเลือกวิธีการแบบเดิม ซึ่งเป็นการดำเนินการไปตามขั้นตอนอันสมคล้อยกับระบบราชการ ซึ่งรู้กันเป็นอย่างดีว่าในกรณีเร่งด่วน สำคัญ และเกี่ยวเนื่องกับความเป็นความตายของสดมภ์หลักของชาติอย่าพระพุทธศาสนานี้ การทำงานในรูปแบบเดิมนั้นยากที่จะทำออกมาให้ได้ผลดีและเป็นที่ยอมรับ และการก็เป็นจริงดังประจักษ์กันดีอยู่แล้วในเวลานี้) ซึ่งหาก มส. ดำเนินการตามมาตรา 19 และแต่งตั้งให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาทำงานเพื่อการนี้โดยตรง ปัญหากรณีธรรมกายจะไม่บานปลายและลุกลามใหญ่โตจนเป็นปัญหาระดับชาติ สั่นสะเทือนสถาบันและองค์สังฆบิดรอย่างที่เห็นและแน่นอนว่ามหาเถรสมาคมเองก็คงไม่บอบช้ำ จนตกอยู่ในสภาพ 'จำเลย' อันไม่ต่างไปจากชาวธรรมกายสักเท่าไหร่นัก

สภาพการณ์ 'รวบและรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง' คือที่องค์ปกครองสงฆ์สูงสุดเพียงฝ่ายเดียวเช่นนี้ทำให้ลักษณะองค์กรมีความใหญ่โต เทอะทะ ไม่คล่องตัว และปรับตัวยาก ยิ่งในสังคมโลกาภิวัตน์ด้วยแล้ว เห็นได้ชัดเจนว่ามีสารพัดปัญหารอท้าทายมหาเถรสมาคมอยู่อย่างน่าประหวั่นพรั่นพรึง

ในอนาคต หากองค์กรปกครองคณะสงฆ์สูงสุดอย่างมหาเถรสมาคม ไม่มีการ 'ปรับองค์กร' เพื่อรับมือกับกระแสความเปลี่ยนแปลงในโลกยุค 2000 ก็น่าเป็นห่วงว่ามหาเถรสมาคมอาจตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ ล้าหลัง ก้าวไม่ทันโลก อาจตกเป็น 'แนวร่วมอลัชชี' หรือมีฐานะเป็นเพียงสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่มีความสลักสำคัญอะไรอีกในสังคมไทย

และเมื่อถึงวันนั้น ไม่เพียงมหาเถรสมาคมเท่านั้นที่น่าเป็นห่วง หากสถาบันพระพุทธศาสนาและสังคมไทย ทั้งหมดนั่นแหละที่ตกอยู่ในสภาพน่าเป็นห่วงยิ่งกว่า ดังธรรมทัศนะจากพระธรรมปิฎก...

"เราถือกันว่า พระสงฆ์เป็นสถาบันทางจริยธรรม เป็นสถาบันผู้นำทางด้านจิตใจของสังคมนี้ เราอาจจะพูดได้ว่า โดยทั่วไปในสังคมไทยนี้ พระสงฆ์เป็นบุคคลที่ถือได้ว่ามีศีลธรรมและจริยธรรมมากที่สุดจากเกณฑ์มาตรฐาน หรือพื้นความเข้าใจอย่างนี้ เมื่อเรามองสังคมไทย ก็จะได้ข้อคิดต่อไปว่า อ้อนี่ ขนาดบุคคลที่ถือว่าเป็นแบบอย่างทางศีลธรรม และเป็นผู้นำทางจิตใจของสังคมก็ยังมีความเสื่อมโทรมขนาดนี้ แล้วสังคมไทยส่วนรวมทั่วๆ ไป จะเลวทรามขนาดไหน..." n




Last modified: วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2542