กรณีธรรมกาย

'มหาเถรสมาคม'

มิอาจ ท้า..ฟ้าลิขิต

** missed drop char **รากฏการณ์ 'พระอักษร' สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่ทรงออกมาถึง 4 ฉบับ ถือเป็นประวัติศาสตร์วงการสงฆ์ไทยก็ว่าได้ พระองค์ทรงออกมาชี้แนวทางแก้ไขจัดการ 'กรณีพระธัมมชโย และวัดพระธรรมกาย' ที่ตกเป็นจำเลยสังคมมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2541 จนเดือนพฤศจิกายน กรมการศาสนา และมหาเถรสมาคม ได้ตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวน

แต่การดำเนินการของ กรมการศาสนา, มหาเถรสมาคม ที่ได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำการสอบสวนประเด็นต่างๆ ต่อวัดพระธรรมกาย กลับไม่มีความคืบหน้าอย่างใดๆ

ยิ่งนานวันเรื่องยิ่งเงียบหาย จนล่วงมาหลายเดือน

5 เมษายน 2542 สมเด็จพระสังฆราช ได้ทรงมี 'พระอักษร' (ฉบับแรก) ออกมา หลังจากที่ พระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค 1 เสนอผลการวินิจฉัยกรณีวัดพระธรรมกายต่อมหาเถรสมาคม และที่ประชุมเห็นว่าให้พระผู้ใหญ่ที่เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมทุกรูป (รวมถึงสมเด็จพระสังฆราช) แสดงความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร ถึงผลการวินิจฉัยเพื่อนำมาเสนอในที่ประชุม

ซึ่ง พระอักษร ฉบับแรกของ สมเด็จพระสังฆราช ทรงระบุว่า

"ความบิดเบือนพระพุทธธรรมคำทรงสอน โดยกล่าวหาว่าพระไตรปิฎก บกพร่อง เป็นการทำให้สงฆ์ที่หลงเชื่อคำบิดเบือน แตกแยกออกไปกลายเป็นสอง มีความเข้าใจ มีความเชื่อถือพระพุทธศาสนาตรงกันข้าม เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา ทำสงฆ์ให้แตกแยก เป็นอนันตริยกรรม มีโทษทั้งปัจจุบันและอนาคตที่หนัก ส่วนนี่มิใช่เป็นการลงโทษ แต่เป็นการทำที่ถูกต้อง คือต้องมอบสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัดทันที"

ประเด็นหลักของพระอักษรฉบับนี้ นอกจากพระองค์จะทรงชี้แนวทางที่ถูกต้องของแก่นธรรมคำสอนแล้ว ยังทรงแนะนำให้ ธัมมชโย คืนที่ดินและสมบัติทั้งหมดที่หามาได้ในระหว่างเป็นพระให้แก่วัด แม้สมเด็จพระสังฆราช จะทรงมีพระอักษรออกมาอย่างกระจ่างชัดเช่นนี้แล้ว แต่ปรากฏว่า พระมหาเถรฯ หลายรูปได้วิ่งล็อบบี้ไม่ให้กรมการศาสนา นำพระอักษรของสมเด็จพระสังฆราช เข้าสู่ที่ประชุม

ต่อมาเมื่อทางสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ทราบว่ามีการเก็บดองพระอักษรไม่ยอมนำเข้าที่ประชุม จึงออกมาเปิดโปงทางสื่อมวลชน ขณะที่ กรมการศาสนา ได้ออกมาชี้แจงว่า ไม่แน่ใจว่าจะเป็นพระอักษรจริงหรือไม่ เพราะไม่มีการลงพระนาม และตราของสมเด็จพระสังฆราช

จนสมเด็จพระสังฆราช ต้องออก 'พระอักษร' อย่างเป็นทางการ ซึ่งเนื้อหาเหมือนเดิมทุกประการ และมีการลงพระนามและตราของสมเด็จพระสังฆราช อย่างชัดเจน

แม้สมเด็จพระสังฆราช จะทรงมีพระอักษรเป็นแนวทางปฏิบัติ แต่ดูเหมือนว่าเวลายิ่งทอดตัวยาวออกมา การจัดการปัญหาวัดพระธรรมกาย ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า

จน 26 เมษายน 2542 สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระอักษรอย่างเป็นทาง การออกมาอีกเป็นฉบับที่ 2 โดยยกเอาเนื้อหาในพระอักษรฉบับที่ 1 (5 เมษายน 2542) มาทวน และมีพระอักษรต่อเป็นวรรคสองระบุชัดว่า

"ไม่คิดให้มีโทษ เพราะคิดในแง่ยกประโยชน์ให้ว่า ในขั้นต้นอาจมิใช่มีเจตนาถือเอาสมบัติของวัดเป็นของตนจริงๆ แต่เมื่อถึงอย่างไรก็ไม่ยอมมอบคือสมบัติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในขณะเป็นพระให้แก่วัด ก็แสดงชัดแจ้งว่าต้องอาบัติปาราชิก ต้องพ้นจากความเป็นสมณะโดยอัตโนมัติ ต้องถูกจัดการอย่างเด็ดขาด เช่นเดียวกับผู้ไม่ใช่พระปลอมเป็นพระ ด้วยการนำผ้ากาสาวพัสตร์ไปครอง ทำความเศร้าหมองเสื่อมเสียให้เกิดแก่สงฆ์ในพระพุทธศาสนา"

สรุปเนื้อหาของพระอักษรวรรคนี้ ชี้ชัดว่า พระธัมมชโย ต้องปาราชิกไปแล้ว เพราะไม่ยอมคืนสมบัติให้แก่วัด และพลันที่พระอักษรฉบับที่ 2 ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อ 29 เมษายน 2542 เสียงเรียกร้องให้จัดการกับวัดพระธรรมกาย ได้รับกระแสตอบรับอย่างแข็งขันจากสาธุชนชาวพุทธกึกก้อง ทุกฝ่ายต่างเรียกร้องให้กรมการศาสนา นำพระอักษร ฉบับที่ 2 เข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคม เพื่อให้มหาเถรสมาคม มีมติจัดการเด็ดขาด ตามพระอักษรขององค์พระสังฆราช

แต่ดูเหมือนว่าทั้ง กรมการศาสนา และมหาเถรสมาคม จะเกิดอาการใบ้กิน

30 เมษายน 2542 สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระอักษรออกมาอีกเป็นฉบับที่ 3 ระบุว่า "การโกงสมบัติผู้อื่น ตั้งแต่ 5 มาสกขึ้นไป คือประมาณไม่ถึง 300 บาทในปัจจุบัน ภิกษุต้องอาบัติปาราชิก ฐานผิดพระธรรมวินัย พ้นจากความเป็นพระทันที ในกรณีนี้ไม่ว่าจะมีผู้รู้เห็นหรือไม่ ไม่ว่าจะมีการสั่งให้สึก ไม่ว่าจะมีการจับสึก หรือไม่ก็ตาม ภิกษุผู้ละเมิดพระธรรมวินัยข้อนี้ ต้องอาบัติปาราชิก พ้นจากความเป็นพระโดยอัตโนมัติ.. ฯลฯ"

"ประกาศนั้นเป็นคำบอกเล่า เป็นคำตือนให้รู้ เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับ มส. ไม่บังคับให้ใครเชื่อ ไม่บังคับใครให้ทำอะไรแสดงความถูกผิดให้ปรากฏอยู่เท่านั้น ในฐานะที่เป็นประมุขแห่งสงฆ์ในพระพุทธศาสนา จึงต้องทำหน้าที่ส่วนตนให้เรียบร้อยถูกต้อง..บอกความจริงด้วยความหวังดี มิได้บังคับ จงเข้าใจทั่วกัน"

แต่ถึงขนาดนี้แล้ว กลุ่มศิษย์วัดพระธรรมกายยังออกมาตะแบงว่าพระอักษรไม่ได้ระบุชื่อวัดหรือชื่อใคร จึงไม่เกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย และยิ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่งเมื่อ นายพิภพ กาญจนะ อธิบดีกรมการศาสนา ออกมาตีความพระอักษรของสมเด็จพระสังฆราชว่า พระอักษร ไม่ได้ระบุถึงใคร อันเป็นการตีความที่ตรงใจกับชาววัดพระธรรมกายยิ่งนัก

หากจะตะแบงต่อไปอีกคงเป็นเรื่อง ท้า..ฟ้าลิขิต สวนกระแสสังคม สวนกระแสโลก เมื่อ สมเด็จพระสังฆราช ทรงมีพระอักษรออกมาอีกครั้งเป็นฉบับที่ 4 เมื่อ 1 พฤษภาคม 2542 ระบุชัดๆ ว่า

"ในกรณีเกี่ยวกับเรื่องวัดพระธรรมกาย เราได้ทำหน้าที่ของสมเด็จพระสังฆราชสมบูรณ์ตามอำนาจแล้ว จึงไม่มีอะไรจะพูดอีกขณะนี้.. ขออนุโมทนาทุกท่านที่สนใจห่วงใยพระพุทธศาสนา แสดงความเป็นคนดี ด้วยมีกตัญญูกตเวทิตาธรรม"

เนื้อหาในพระอักษร ฉบับที่ 4 การจะตีความแบบตะแบงๆ เยี่ยงเดิมคงไม่ได้อีกแล้ว นอกจากจะแจ่มแจ้งชัดเจนว่า สมเด็จพระสังฆราช ได้ทรงวางแนวทางการจัดการกรณีวัดพระธรรมกาย ไม่ใช่วางแนวทางกรณี 'ทั่วไป' ตามที่ 'สติปัญญา' ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำเป็นไม่เข้าใจ

ว่าได้ว่าปัญหา 'พระธัมมชโย และวัดพระธรรมกาย' ที่ผ่านๆ มา ดูเหมือนว่าพระเถระชั้นผู้ใหญ่ (บางรูป) ซึ่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม นอกจากจะไม่ให้ความสำคัญต่อ 'พระอักษร' ของ สมเด็จพระสังฆราช เท่าที่ควรจะเป็นแล้ว การดำเนินการแก้ไขปัญหานี้ก็ล่าช้าอืดอาด จนถูกสังคมวิจารณ์ว่าเพราะพระเถระผู้ใหญ่ที่เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม โดยเฉพาะพระในสายมหานิกาย มีความเอ็นดูต่อพระธัมมชโย และวัดพระธรรมกาย อย่างเกินปกติ

ก่อนเกิดปัญหากรณีธรรมกาย สมเด็จพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) แห่งวัดสระเกศ ซึ่งถือเป็นพระเถระอาวุโสสูงสุดในสายมหานิกาย และว่ากันว่าเป็นพระเถระที่อาจได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชในอนาคตข้างหน้า สมเด็จพุฒาจารย์ เคยได้รับนิมนต์ไปเป็นประธานในงานพิธีสำคัญๆ ของวัดพระธรรมกายเสมอ

และหลังจากเกิดปัญหาแล้ว สมเด็จพุฒาจารย์ ก็ยังแผ่ความเมตตาให้กับวัดพระธรรมกาย อาทิ เมื่อครั้งที่สมเด็จพระสังฆราช ทรงต้องการให้มีการประชุมมหาเถรฯนัดพิเศษ เพื่อพิจารณาปัญหานี้โดยเฉพาะสมเด็จวัดสระเกศ ก็เป็นผู้ระบุว่า ไม่ควรจะต้องประชุมนัดพิเศษ เนื่องจากมหาเถรฯมอบให้พระพรหมโมลี เจ้าคณะภาค 1 ไปจัดการแล้วจะได้ไม่ต้องรบกวนสมเด็จพระสังฆราช

พระเมตตาของสมเด็จวัดสระเกศ กับวัดพระธรรมกาย เป็นดั่ง 'พ่อกับลูก' สมเด็จวัดสระเกศ เคยกล่าวกลางที่ประชุมพระสังฆาธิการทั่วประเทศ ถึงการสอบสวนทางสงฆ์ที่ล่าช้าว่า พระพุทธเจ้าให้ปกครองสงฆ์เหมือน 'พ่อปกครองลูก' แม้อะไรผิดพลาดต้องดูแลลูก จึงทำให้เกิดความรู้สึกกับคนทั่วไปว่ามหาเถรสมาคมทำอะไรไม่ทันเหตุการณ์

นอกจากสมเด็จวัดสระเกศ ที่ทรงเมตตาเอ็นดูวัดพระธรรมกาย สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) แห่งวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ก็ทรงมีพระเมตตาต่อวัดพระธรรมกายเช่นกัน โดยสมเด็จวัดปากน้ำเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระธัมมชโย หรือพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ธัมมชโย) ซึ่งในทางสงฆ์แล้ว พระอุปัชฌาย์เปรียบได้เหมือนกับพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และบิดาทางธรรมของพระธัมมชโย

สมเด็จวัดปากน้ำเมตตาและอุปถัมภ์วัดพระธรรมกายมาตลอด ที่สำคัญคือ การรับเป็นองค์ประธานชมรม พุทธศาสตร์สากล ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญของวัดพระธรรมกายในการเข้าไปดูแลชมรมพุทธต่างๆ ของสถาบันการศึกษา และเป็นแกนหลักในการจัดกิจกรรมบวชธรรมทายาท รวมถึงการตอบปัญหาธรรมะ

ในขณะที่เกิดปัญหาวัดพระธรรมกาย สมเด็จวัดปากน้ำ ไม่ต้องการให้พระลูกวัดวิจารณ์กรณีนี้ ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การขับ พระอดิศักดิ์ วิริยสักโก อดีตพระผู้ก่อตั้งวัดพระธรรมกายออกจากวัดปากน้ำ เพราะพระอดิศักดิ์ ไปวิจารณ์วัดพระธรรมกาย

นอกจากพระเถระชั้นสมเด็จ พระเถระชั้นรองๆ ลงมาก็ทรงมีเมตตาเอ็นดูวัดพระธรรมกายเป็นอย่างยิ่ง เช่น พระพรหมโมลี (วิลาศ ญาณวโร) เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ซึ่งมีฐานะเป็น เจ้าคณะภาค 1 กำกับดูแลและทำการสอบสวนวัดพระธรรมกายโดยตรง พระพรหมโมลี ได้รับการยกย่องจากวัดพระธรรมกายมาโดยตลอด

เมื่อเกิดปัญหากรณีวัดพระธรรมกาย พระพรหมโมลี ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำการสอบสวน แต่ก็ไม่เคยได้ทำการชี้ถูกชี้ผิดกรณีวัดพระธรรมกายเลยสักครั้ง และการดำเนินการสอบสวนของพระพรหมโมลี ก็ถูกพระด้วยกันตำหนิและวิจารณ์ว่า ปฏิบัติไม่รวดเร็วและเข้มแข็งเท่าที่ควรจะเป็น

นอกจาก พระพรหมโมลี ยังมีพระเถระอีกรูปซึ่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และทรงมีเมตตาเอ็นดูพระธัมมชโย และวัดพระธรรมกายยิ่งนัก ก็คือ พระ-ธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) แห่งวัดราชโอ-รสาราม ตั้งแต่พระธรรมกิตติวงศ์ ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระเทพปริยัติโมลี ก็รับตำแหน่งเป็น 'ที่ปรึกษา' วัดพระธรรมกายแล้ว และเคยมาเป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทพระภิกษุให้อีกด้วย

เมื่อเริ่มมีสอบสวนวัดพระธรรมกายใหม่ๆ ช่วงพฤศจิกายน 2541 พระธรรมกิตติวงศ์ เป็นพระเถระรูปแรก ที่แผ่เมตตาบารมี โดยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ยังหาจุดผิดวัดพระธรรมกายไม่ได้ และการสร้างธรรมกายเจดีย์มองในแง่ดีเป็นการสร้างงานให้ประชาชนเป็นหมื่นคน ทั้งเรื่องการก่อสร้าง การค้าขายวัสดุ ฯลฯ

นอกจากพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่สำคัญๆ กล่าวได้ว่า พระธัมมชโย และวัดพระธรรมกาย ยังมีสายสัมพันธ์อย่างยาวนานกับพระเถระอีก 2 รูป ที่เป็นกรรมการมหาเถรฯ นั่นคือ พระพรหมจริยาจารย์ (สมุท รชตวณโณ) และ พระธรรมวโรดม (บุญมา คุณสมปนโน) ซึ่งเป็นพระเถระจากวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม

ซึ่งความเมตตาที่วัดเบญจฯ มีกับวัดพระธรรมกาย คงสืบเนื่องมาตั้งแต่ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดเบญจฯ ยังไม่มรณภาพ โดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ได้เมตตากับวัดพระธรรมกายมาก โดยรับเป็นองค์อุปถัมภ์ชมรมพุทธศาสตร์สากลเป็นองค์แรก และได้มีการจัดให้บวชธรรมทายาทในโบสถ์หลวงของวัดเบญจฯ ตลอดมา เพิ่งจะมาในปีนี้ที่ต้องไปบวชที่อื่น เพราะวัดเบญจฯ ให้เหตุผลว่ากำลังซ่อมโบสถ์

ล่าสุด 4 พฤษภาคม 2542 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการกรณีวัดพระธรรมกาย ดังนี้ คือ 1.ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถวายการอารักขาสมเด็จพระสังฆราช และรักษาความปลอดภัย 2.ให้กระทรวงศึกษาธิการ (กรมการศาสนา) ดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อสนองพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช และรับสนองงานตามมติมหาเถรสมาคม 3.ให้กระทรวงมหาดไทย (กรมที่ดิน) อำนวยความสะดวกแก่เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย (ธัมมชโย) ในกรณีการโอนที่ดินในชื่อเจ้าอาวาสให้แก่วัดพระธรรมกาย

ถึงนาทีนี้ ขณะนี้การประชุม 'มหาเถรสมาคม' ที่จะมีขึ้นในวันที่ 10 พฤษภาคมเพื่อตัดสินและชี้ขาดกรณีธรรมกาย ด้วยแรงกดดันจากสังคม แรงกดดันจากสาธุชนชาวพุทธ และด้วย 'พระอักษร' ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระ- สังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่เป็นดั่งแนวทางในการปฏิบัติถึงขนาดนี้แล้ว

ถ้ายังไม่มีการดำเนินการใดๆ อย่างชัดเจน และเด็ดขาดจาก 'มหาเถร-สมาคม' ทั้งยังดำเนินการเยี่ยงเดิมเช่นที่ผ่านๆ มา คงเป็นเรื่องของการฝืนความต้องการของสาธุชนชาวพุทธ ฝืนกระแสสังคม ฝืนกระแสโลก และที่สำคัญ ย่อมต้องเป็นการท้าทาย ท้า..ฟ้าลิขิต!!




Last modified: วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2542